นวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยุค 4.0


นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่กำลังเป็นที่จับตามองในแวดวงสาธารณสุขไทย และประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการเฉียบพลันร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที นั่นก็คือ “ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรด้วยโทรเวชกรรม (Telemedicine)” ซึ่งล่าสุดเมื่อ ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมชมระบบการดำเนินงานของ Telemedicine นี้ด้วยระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรด้วยโทรเวชกรรม (Telemedicine) ได้รับการคิดค้นและดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมยุค 4.0 (Innovation in Stroke Care 4.0) ที่แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างไร้พรมแดนโดยผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ (Video Conference) ช่วยลดอุปสรรคด้านเวลาและระยะทางในการเดินทางของผู้ป่วยเพื่อมาพบแพทย์ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่เหมาะอย่างยิ่งกับการให้บริการผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเฉียบพลันและต้องการการรักษาในวินาทีชีวิตอย่างเร่งด่วน

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรด้วยโทรเวชกรรม(Telemedicine) ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา อันมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการอันดับหนึ่งในประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จากสถิติในแต่ละปีพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันมากกว่า 250,000 ราย และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 50,000 รายต่อปี ทั้งนี้การรักษาที่รวดเร็ว ถูกต้องและทันเวลาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเป็นปกติหรือลดอัตราความพิการลงได้ ในฐานะผู้นำและเป็นต้นแบบของการรักษาผู้ป่วยสมองขาดเลือดในประเทศไทยและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ฯจึงได้พัฒนาการใช้ระบบโทรเวชกรรมเพื่อรับปรึกษาการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะต่างๆ แบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเครือข่ายจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องถึงบ้าน ดังนี้

โครงการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเพื่อการให้ยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลเครือข่าย
สำหรับโครงการสำคัญของศูนย์ฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเยี่ยมชม นั่นก็คือ โครงการรับปรึกษาผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งหมด 16 โรงพยาบาลทั่วประเทศและการขยายบริการเครือข่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ “โครงการการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผ่านโทรเวชกรรมระหว่างประเทศ” ณ โรงพยาบาลมิตรภาพ สาธารณรัฐประชาชาธิปไตยประชาชนลาว โดยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและรับปรึกษาการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ศ.พญ.นิจศรี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะโรงพยาบาลแม่ข่ายในการรับปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีโรงพยาบาลเครือข่ายในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 15 แห่ง มีผู้ป่วยที่รับปรึกษาและส่งต่อประมาณ 140 รายต่อปี มีการพัฒนาระบบการส่งต่อแบบใหม่ที่เรียกว่า “Drip and Ship Program” โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯ คอยให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในโรงพยาบาลเครือข่ายและร่วมดูแลผู้ป่วยผ่านทางระบบการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ (Video Conference) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินการให้ยาละลายลิ่มเลือดที่โรงพยาบาลเครือข่าย และพิจารณาการส่งผู้ป่วยต่อมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์พิเศษดึงลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมอง อีกทั้งการพัฒนาระบบการส่งข้อมูลผู้ป่วยในระบบทางด่วนสำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันด้วยแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “CU FAST TRACK” บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้การส่งข้อมูลปรึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ

โครงการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ภายนอกโรงพยาบาล ผ่านทางโทรเวชกรรมโดยหุ่นยนต์คุณหมอ
โครงการนี้มีบทบาทอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งแพทย์ประจำบ้านสามารถปรึกษาอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่นอกโรงพยาบาลในช่วงหลังเวลาราชการได้ตลอดเวลาผ่านทางโทรเวชกรรมโดยหุ่นยนต์คุณหมอทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็วและทันเวลา อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้ว่ามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่ใช้หุ่นยนต์คุณหมอ (Stroke Robot) ในการร่วมดูแลผู้ป่วย ซึ่งหุ่นยนต์ Stroke Robot นี้ได้ติดตั้งอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและหอผู้ป่วยวิกฤติ

โครงการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อเนื่องถึงบ้าน โดย HomeHealth Care Robot ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล และสำนักงานอาสากาชาด
หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาช่วงแรกในระยะเฉียบพลันที่โรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยและญาติมักจะเกิดความกังวลใจในการกลับไปดูแลต่อเนื่องเองที่บ้าน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำโดยเฉพาะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งอาจตรวจไม่พบขณะที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือบางรายอาจมีความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูในระยะยาว เป็นต้น ศูนย์ฯ จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอขนาดเล็กให้ผู้ป่วยนำกลับไปที่บ้านด้วย ซึ่งหุ่นยนต์นี้สามารถประเมินสภาวะของผู้ป่วย ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถติดตามอาการของผู้ป่วยทางโทรเวชกรรม รวมถึงการเตือนให้รับประทานยาหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ อีกทั้งมีวีดิทัศน์เพื่อให้ความรู้และสอนวิธีทำกายภาพบำบัดให้แก่ผู้ป่วยด้วย

โครงการคลินิกโทรเวชกรรม
คลินิกโทรเวชกรรม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ จะมีบทบาทในการให้บริการ “Teleconsultation” โดยแพทย์จากโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการฯสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ประสาทศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และให้การรักษาที่เหมาะสมก่อนส่งผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือบางรายอาจไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คลินิกโทรเวชกรรมยังเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งจัดให้มีบริการ “Teleneurology Clinic” เพื่อตรวจติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทผ่านโทรเวชกรรม ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาจะสามารถปรึกษาปัญหาผู้ป่วยร่วมกันแบบ One-Stop Service ซึ่งเป็นต้นแบบของการรับปรึกษาด้วยระบบ Teleneurology ในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์หลายท่าน รวมถึงช่วยลดระยะเวลารอพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับยาด้วย