ตรวจสุขภาพประจำปี

          การตรวจสุขภาพ เป็นขั้นตอนสำคัญด้านสาธารณสุขที่คนไทยทุกคนควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นขั้นตอนหนึ่งที่แพทย์ปฏิบัติเพื่อใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค เพื่อดูสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย ค้นหาความผิดปกติก่อนที่จะลุกลาม เรื้อรังจนแสดงอาการ และเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยมีการสอบถามประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ในอดีตและประวัติของคนในครอบครัว ประวัติประจำเดือน การตั้งครรภ์และการมีบุตร และประวัติการใช้ยาต่างๆ รวมถึงประวัติการแพ้ยา แพ้อาหารหรือแพ้สิ่งอื่นๆ ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจร่างกาย แพทย์จะบันทึกไว้ในเวชระเบียนเสมอ เพราะนอกจากเป็นข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยในการช่วยวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยในการวินิจฉัยในการคัดแยกโรคต่างๆด้วย นอกจากนั้น ยังใช้ช่วยประเมินวิธีรักษา ช่วยติดตามผลการรักษา และประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และลดปัญหาที่จะนำไปสู่การสูญเสียทั้งทางด้านสุขอนามัย และทางด้านการเงิน

 

ตรวจสุขภาพ ภปร ชั้น 16

ผู้ป่วยใหม่
     ไม่มีแฟ้มประวัติการรักษากับโรงพยาบาลฯ หลังติดต่อตู้บริการผู้ป่วยอัตโนมัติแล้ว กรุณาติดต่อช่องทำประวัติใหม่ ที่อาคาร ภปร ชั้น G โดยกรอกชื่อ-นามสกุล และที่อยู่ลงที่บัตรกรอกประวัติผู้ป่วยใหม่สีเขียว แนบสำเนาบัตรประชาชนเพื่อทำประวัติใหม่ จากนั้นติดต่อห้องบัตร เพื่อลงทะเบียนตรวจ พร้อมแจ้งความประสงค์การตรวจสุขภาพตามที่ต้องการ
ผู้ป่วยเก่า
     ติดต่อโดยตรงที่ตึก ภปร ชั้น 16 เวชศาสตร์ป้องกันฯ พร้อมบัตรโรงพยาบาล
เปิดทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในเวลาทำการตั้งแต่ 07.30-15.30 น.
ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-256 5425,5427
โปรแกรมตรวจสุขภาพ
  1. โปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี คลิก
  • โปรแกรม 1 สำหรับท่านที่อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • โปรแกรม 2 สำหรับท่านที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี
  • รายการตรวจพิเศษอื่น ๆ
  1. โปรแกรมการตรวจสุขภาพสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ คลิก
การตรวจมะเร็งปากมดลูก
กรุณาติดต่อที่อาคาร ภปร ชั้น 7
โทร 02 256 5298 , 5286

 

การเตรียมตัวสำหรับการตรวจสุขภาพ

     สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนวันตรวจสุขภาพด้วยการพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ควรอดนอนเพราะจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะเรื่องความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย  และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญคือ ควรทำตัวให้เหมือนปกติก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่ควรควบคุมตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ผลการตรวจที่แม่นยำที่สุด และให้แพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้องที่สุด  นอกจากนี้ยังมีข้อควรปฏิบัติอื่นๆสำหรับการตรวจสุขภาพ ดังนี้

  • การตรวจเลือด เฉพาะผู้ที่ต้องการตรวจหาน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด  งดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของคืนก่อนวันตรวจ
  • การตรวจปัสสาวะ เก็บปัสสาวะตอนเช้า ก่อนเข้าตรวจสุขภาพ โดยล้างมือ-ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ ปัสสาวะทิ้งไปก่อนเล็กน้อยแล้วเก็บปัสสาวะช่วงกลางก่อนที่จะปัสสาวะสุด เก็บปัสสาวะใส่ภาชนะ ประมาณ ½ กล่อง (ปิดฝาให้สนิท)

           **สุภาพสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนควรให้ประจำเดือนหมดไปก่อนอย่างน้อย 3 วัน หรือถ้าต้องการตรวจกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

  • การตรวจอุจจาระ เก็บอุจจาระตอนเช้าวันตรวจใส่ภาชนะ ประมาณ ¼ กล่อง (ประมาณหัวแม่มือ)
  • การเอกซเรย์ปอด

           **สุภาพสตรี : ให้เปลี่ยนสวมเสื้อที่จัดเตรียมไว้ให้ โดยถอดสร้อยคอ-เสื้อชั้นใน (ยกทรง) ออก เพื่อป้องกันมิให้ตะขอ หรือโครงเสื้อในบังปอด

ข้อควรระวัง 

  • สุภาพสตรีตั้งครรภ์งดเอกซเรย์
  • สุภาพบุรุษควรถอดเสื้อและสร้อยคอ