รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยพลาสมาของผู้ที่หายป่วยแล้ว ความหวังสำคัญของมนุษยชาติ

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยและควบคมุ การระบาดของโรค ขณะทนีั่กวิจยั ทั่วโลกก็กำลังมุ่งมั่นกับการผลิตวัคซีน เพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ๋ใหม่อย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม มีการรักษาเพิ่มเติมอีกหนึ่งวิธีในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่คาดว่าจะได้ผลดี นั่นก็คือ การนำพลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจนกระทั่งหายเป็นปกติแล้ว มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหลักการทำงานของพลาสมา สถานการณ์การใช้พลาสมาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ อีกทั้งการบริจาคพลาสมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยรายอื่นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ที่มาของการใช้พลาสมาในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคใดๆ มาก็ตาม หลังจากรักษาจนหายป่วยแล้ว ร่างกายของบุคคลนั้นๆ จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาซึ่งตามหลักการของภูมิต้านทานวิทยาพบว่า ภูมิต้านทานนี้เปรียบเสมือนเซรุ่มที่สามารถนำมาใช้รักษาการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างของโรคที่มีการนำพลาสมาจากเลือดของผู้ที่หายป่วยจากโรคดังกล่าวมาผลิตยารักษา ได้แก่ โรคอีสุกอีใส โรคอีโบลา โรคซาร์ส เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกยังไม่มีองค์ความรู้ในการรักษาโรคนี้อย่างดีพอ การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในระยะแรกจึงเป็นการทดลองนำยาที่มีอยู่ มาปรับใช้ในการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น

ยาต้านมาลาเรีย (ไฮดรอกซีคลอโรควิน / คลอโรควิน)
ยาต้านเอดส์ (ฟาวิพิราเวียร์ / ริโทนาเวียร์)
ยาต้านไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจะใช้วิธีไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สภาพร่างกาย และอาการข้างเคียงของผู้ป่วยแต่ละคน

การใช้พลาสมาเป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่คาดว่าจะใช้ได้ผลดี กล่าวคือภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ร่างกายของผู้ที่รักษาหายแล้วได้สร้างขึ้นมานั้น จะช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ให้เข้าไปทำลายเซลล์ปอดได้ การใช้พลาสมาในการรักษาจึงถือว่าเป็นการรักษาทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีโอกาสรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น

จากรายงานของประเทศจีนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of American Medical Association วารสาร CHEST Journal และวารสาร PNAS ระบุว่ามีการนำพลาสมาจากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 มารักษาผู้ป่วยแล้วได้ผลดี ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะนำพลาสมาจากผู้หายป่วยโรคโควิด-19 มาใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป และประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก(WHO) และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ได้ออกคำแนะนำในการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วเช่นกัน

ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของบางประเทศมีแผนการที่จะใช้หลักการในการทำให้ประชากรติดเชื้อ เพื่อให้ร่างกายของประชากรสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองตามธรรมชาติ จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายหรือส่งผ่านไปยังประชากรคนอื่นได้ หรือที่เรียกว่า Herd Immunity แต่หากใช้หลักการดังกล่าว ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียประชากรของโลกโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้น ขณะที่โลกยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคได้การรักษาด้วยการใช้พลาสมาก็เป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ในนามที่ปรึกษาของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย ขอเชิญชวนผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ร่วมกันบริจาคพลาสมาโดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่สามารถบริจาคพลาสมาได้ มีดังนี้

เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายขาด และแพทย์วินิจฉัยว่าไม่มีอาการแล้ว
มีการกักตัวครบ 14 วัน หลังจากหายขาดแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายของผู้บริจาคปลอดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างแท้จริง
มีอายุระหว่าง 17 – 60 ปี และมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม
ก่อนบริจาค ต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดและไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลงเหลือในลำคอ
มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประสานงานวัดระดับภูมิต้านทานว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริจาคพลาสมาได้หรือไม่ ซึ่งตามหลักการนั้น ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริจาคพลาสมาได้ต้องมีความเข้มข้นของภูมิต้านทานเท่ากับ 1 : 160 หรือมากกว่า

ควรลงทะเบียนออนไลน์มาก่อน หากมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อนัดหมายต่อไป ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจคัดกรองและบริจาคพลาสมาจะใช้หลักการเดียวกันกับการบริจาคโลหิตทุกประการ

ศ.นพ.ยง ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า การบริจาคพลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 เปรียบเสมือนการอุทิศตนที่ได้กุศลมาก ได้ช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานดีขึ้นจากโรคโควิด-19 ได้ อีกทั้งพลาสมาของผู้บริจาคไม่เหมือนกับยาอื่นๆ เพราะไม่สามารถหาซื้อหรือผลิตขึ้นเองจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่จำเป็นต้องได้มาจากผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในร่างกายได้เองเท่านั้น


ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายขาดแล้ว และสนใจอยากบริจาคพลาสมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นต่อไป
สามารถลงทะเบียนออนไลน์ ได้ที่ https://ccp.nbc.in.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (02) 263 9600-99 หรือ (02) 256 4300