การบริการตรวจด้วยเครื่องคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI)


การตรวจด้วยเครื่องคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) หรือ MRI คือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเครื่องจากคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะจะเข้าไปกระตุ้นระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ และวัดระดับพลังงานจากไฮโดรเจนอะตอมภายในร่างกายซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงตามขบวนการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่าการกำทอน (Resonance) แล้วแปลงขึ้นเป็นภาพ ซึ่งข้อมูลจะมีความชัดเจนมากกว่าการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพราะสามารถระบุความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี ทำได้หลายระนาบ สร้างภาพ 3 มิติได้ และสามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบสมอง เช่น ตรวจหาโรคเนื้องอกในสมอง ระบบประสาท และกระดูกสันหลัง อีกทั้งมีเทคนิคการตรวจพิเศษหลากหลาย เช่น การตรวจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน การตรวจหาระดับชีวเคมีเพื่อแยกชนิดของก้อนเนื้อ และการตรวจหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นต้น

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. งดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ 6 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยนัดตรวจท้องส่วนบน (​Liver + <R Elastrography) การตรวจท่อและถุงน้ำดี (MRCP) การตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Stress Cardiac MRI) และผู้ป่วยเด็กที่ต้องดมยาสลบ
  2. หากผู้ป่วยเข้าข่าย หรือ มีแนวโน้มจะเข้าข่ายกรณีต่อไปนี้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เวลามาทำนัด หรือก่อนการตรวจในทันที
  • สตรีตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้สารทึบรังสี
  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาอื่นๆ
  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และลมบ้าหมู เป็นต้น
  1. ผู้ป่วยต้องมีผลการทำงานของไต (Creatinine) ก่อนการตรวจไม่เกิน 3 เดือน
  2. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการนำโลหะ ได้แก่ เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเครดิต พวงกุญแจ เหรียญบาท หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นโลหะทั้งหมด ติดตัวเข้ามาในห้องตรวจรังสีด้วย รวมถึงผู้ป่วยสุภาพสตรีควรเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนเข้าห้องตรวจ โดยเฉพาะสีทาเปลือกตา (Eye shadow) และมาสคารา เนื่องจากมีส่วนผสมของโลหะ

 

วิธีการตรวจ

  • ผู้ป่วยต้องนอนให้นิ่งที่สุดบนเตียงตรวจเพื่อคุณภาพของภาพที่สามารถนำไปวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และลดเวลาในการตรวจ โดยมีนักรังสีการแพทย์คอยให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการจัดท่านอน ควรงดพูดคุยระหว่างที่เครื่องกำลังทำงาน
  • การตรวจช่องท้องหรือหัวใจ จะต้องมีการกลั้นหายใจผ่านคำสั่งทางไมโครโฟนเพื่อลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการซักซ้อมจากเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าห้องตรวจรังสี
  • หากต้องมีการฉีดสารเปรียบเทียบความชัดเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยเน้นแยกรายละเอียดของโรค ผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนเข้าตรวจทุกครั้ง
  • หลังตรวจผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการ MRI ได้ที่

  • หน่วยงานธุรการบริการรังสีวิทยาวินิจฉัย อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2
    โทรศัพท์ 02 256 4000 ต่อ 80201, 80202 หรือ กรณีนัดตรวจที่อาคารวัตบริบาล โทรศัพท์ 02 256 4778
    เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดตามประกาศของราชการ)
  • คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ
    วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 16.00 – 19.00 น.
    วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 07.00 – 16.00 น.

เครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือด เทคโนโลยีทันสมัยระดับโลก ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย เนื่องจากมีทั้งบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ครบครันที่สามารถวินิจฉัย และดูแลรักษาผ้ปู ว่ ยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างงครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุดได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดซึ่งถือว่าเป็นระบบฮาร์ดแวร์ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงระบบซอฟต์แวร์ในการตรวจหัวใจที่มีเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดอีกด้วย โอกาสนี้ ผศ.(พิเศษ) นพ.ไพโรจน์ ฉัตรานุกูลชัย หน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับการบริการแบบครบวงจรของศูนย์โรคหัวใจและความโดดเด่นของเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดนี้

ผศ.(พิเศษ) นพ.ไพโรจน์ ฉัตรานุกูลชัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการให้บริการล่าสุดของศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีที่มาจากการที่ ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ และผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือดและหัวหน้าห้องตรวจ Adult Noninvasive CV Lab มีวิสัยทัศน์ในการทำให้ศูนย์โรคหัวใจพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องทั้งด้านงานบริการ การวิจัย และการเรียนการสอนแบบตติยภูมิ จึงได้ริเริ่มให้มองหาความเป็นไปได้ในการติดตั้งเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดภายในห้องตรวจ Adult Noninvasive CV Lab เมื่อเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือกับสาขารังสีวินิจฉัย ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเติมเต็มให้ศูนย์โรคหัวใจสามารถดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น

รู้จักการตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือด (Cardiac MRI)

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเครื่องตรวจ Cardiac MRI เป็นการสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก ซึ่งเป็นการตรวจหัวใจและหลอดเลือดวิธีใหม่ที่สามารถประมวลผล วินิจฉัยการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดได้ชัดเจน โดยผู้ป่วยไม่มีความเสี่ยงในการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีใดๆ อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพได้ทุกระนาบหรือทุกแนวโดยผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนท่าและสามารถสร้างภาพสามมิติได้อีกด้วย

สำหรับประโยชน์ของเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดนี้สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคหัวใจชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การตรวจรอยแผลเป็นที่แสดงการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังช่วยตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายในอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย

เครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือด ที่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดำเนินการติดตั้งมีความโดดเด่น ดังนี้

  • ระบบฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงของเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ใช้ระยะเวลาในการตรวจหัวใจของผู้ป่วยสั้นลง มีอุโมงค์ขนาดใหญ่สำหรับนำผู้ป่วยเข้าสแกน ทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบการติดตามอาการผู้ป่วยหลังการตรวจที่มีประสิทธิภาพ โดยมีห้องสังเกตอาการผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทันสมัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน ทำให้เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย

  • ระบบซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด

ด้วยนวัตกรรมและระบบซอฟต์แวร์ของเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดที่ทันสมัยล่าสุด ช่วยทำให้แพทย์สามารถเก็บภาพหัวใจได้คมชัดและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หรือกลั้นหายใจไม่ได้ ที่นับเป็นปัญหาที่พบมาตลอดในการเก็บภาพสำหรับเครื่องรุ่นเก่า ซึ่งเทคโนโลยีล่าสุดนี้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

  • ศูนย์การเรียนการสอนสำหรับแพทย์ผู้สนใจ และเป็นคลังข้อมูลในการสร้างผลงานวิจัยขั้นสูง

เนื่องด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีในเครื่องนี้ สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการเป็นศูนย์การเรียนการสอนแก่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคผู้สนใจ พร้อมทั้งภาพจากการตรวจที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่สามารถนำไปใช้ผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับประเทศต่อไป

ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือดหัวหน้าห้องตรวจ Adult Noninvasive CV Lab ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้มีวิสัยทัศน์ให้ห้องตรวจ Adult Noninvasive CV Lab ของศูนย์โรคหัวใจ มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

การออกแบบศูนย์โรคหัวใจเพื่อใช้ทุกวินาทีในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณค่ามากที่สุด

ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่เร่งด่วนและใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่ส่งผลอันตรายแก่ชีวิตผู้ป่วยได้ ดังนั้นศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้วางผังให้ที่ตั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยที่บริเวณชั้น 4 ของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มีการออกแบบให้เป็นห้องสวนหัวใจ ห้องตรวจ
Adult Noninvasive CV Lab และหออภิบาลผู้ป่วยหนักโรคหัวใจให้อยู่ในบริเวณเดียวกันและมีการเชื่อมทางเดินที่เป็นระบบปลอดเชื้อไปยังชั้น 5 ของอาคาร สก. ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดที่มีเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดเช่นเดียวกันทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและลดขั้นตอนในการขนย้ายผู้ป่วยไปยังแผนกต่างๆ ส่งผลให้การวินิจฉัย การรักษาและการทำหัตถการในผู้ป่วยโรคหัวใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร

ผศ.(พิเศษ) นพ.ไพโรจน์ กล่าวถึงการดำเนินการติดตั้งว่า การออกแบบพื้นที่และแผนผังได้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมาช่วยให้คำแนะนำรวมถึงการติดตั้งเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือด ณ ชั้น 4 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรังสีวิทยาที่มีส่วนสำคัญให้งานนี้บรรลุเป้าหมาย

ผศ.(พิเศษ)นพ.ไพโรจน์ ยังเสริมด้วยว่า นอกจากจะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังเล็งเห็นความสำคัญของกำลังใจผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงออกแบบห้องพักคอยภายในห้องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดให้มีบรรยากาศเป็นกันเอง เสมือนเลาจน์ (Lounge) ที่เหมาะแก่การรับรองผู้ป่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดให้แก่ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดของศูนย์โรคหัวใจจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป โดยได้รับความร่วมมือจากสาขารังสีวินิจฉัย ฝ่ายรังสีวิทยา ในการให้รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่นักรังสีเทคนิคมาร่วมให้บริการผู้ป่วย ซึ่งเครื่องตรวจ MRI หัวใจและหลอดเลือดนี้จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเติมเต็มให้ศูนย์โรคหัวใจแห่งนี้ให้เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่ครบวงจรของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ระบบฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระบบซอฟต์แวร์ล่าสุด พร้อมจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยการทำงานของหัวใจผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อุโมงค์ขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยไม่อึดอัด และสามารถสแกนผู้ป่วยได้ในทุกระนาบ ทุกอิริยาบถ

การออกแบบห้องพักคอย และบรรยากาศภายในของศูนย์โรคหัวใจ ผ่อนคลาย ไม่เหมือนบรรยากาศโรงพยาบาลทั่วไปที่หลายคนคุ้นเคยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้ดียิ่งขึ้น ลดความตึงเครียดขณะพักคอยการตรวจ รวมถึงมีการออกแบบห้องอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย