ทำไมหายจากโรคโควิด-19 แต่อาการป่วยยังอยู่


ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2563 หลังจากโรคโควิด-19 ระบาด และมีการพบว่าผู้ที่หายป่วยบางรายไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเดิมประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เริ่มมีการให้ความสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับอาการโควิดระยะยาว (Long COVID หรือ Long Hauler) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการโควิดระยะยาวที่น่าสนใจ ดังนี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่าผลการศึกษาของ The National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ประเทศอังกฤษ อ้างอิง ณ วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีการแบ่งกลุ่มอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่
ระยะที่ 1 Acute COVID-19 : ระยะที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อและมีอาการบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ประมาณ 4 สัปดาห์
ระยะที่ 2 Ongoing symptomatic COVID-19 : ระยะที่ผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องไปอีก 4-12 สัปดาห์
ระยะที่ 3 Post-acute COVID-19 : ระยะที่ผู้ป่วยยังมีอาการบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ในช่วงระหว่างที่พบเชื้อ หรือหลังจากการพบเชื้อ โดยยังคงมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์

อาการต่างๆ ที่พบในผู้ป่วยโควิดระยะยาว
มีการศึกษาที่รวบรวมข้อมูลผู้ป่วย 186,000 ราย ในประเทศอังกฤษพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยจะมีอาการบ่งชี้โรคโควิด-19 ต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ไอและปวดศีรษะ อีกทั้งยังมีผู้ป่วยราว 9.9% ที่จะยังคงมีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์ไปแล้ว เช่นเดียวกับรายงานการศึกษาทางการแพทย์จากหลายประเทศทำการติดตามผู้ป่วยติดเชื้อทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จนถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าหลังจากผู้ป่วยหายแล้วอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วยมีความเสียหายหรือถูกทำลายอย่างถาวร เช่น อาการปอดบวมหรือเนื้อปอดถูกทำลายโดยที่ระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา และการกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในร่างกายว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังอาจส่งผลให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยที่มีอยู่เดิมเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 แล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคที่เกิดกับระบบอวัยวะอื่นๆ และภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น ทั้งนี้ กลไกในการอธิบายอาจจะซับซ้อนและอาจจะคล้ายคลึงกับภาวะที่เกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่เรียกว่า ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) อาจมีความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันโดยที่อาจมีไวรัสซ่อนหลบอยู่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าโรคโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะสั้นเท่านั้น แต่โรคร้ายนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เคยติดเชื้อในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันตัวเองและปฏิบัติตัวตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด