ไมเกรน หายได้ไม่ต้องพึ่งยา


ไมเกรน (Migraine) คืออาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพหรือสาเหตุในโพรงกะโหลกศีรษะ (primary headache) เกิดจากมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่จะนำไปสู่ขบวนการอักเสบ (proinflammatory peptides) ที่ปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal ganglion) ทำให้เกิดการอักเสบปราศจากเชื้อโรคที่เยื่อหุ้มสมอง (sterile meningeal inflammation) ไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยมีตัวกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น ควัน อากาศร้อนและอบอ้าว เป็นต้น แม้ว่าจะรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

อาการ

อาการของไมเกรน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 อาการบอกเหตุล่วงหน้า

ระยะที่ 2 อาการนำ

ระยะที่ 3 อาการปวดศีรษะ

และระยะที่ 4 กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

โดยอาการปวดศีรษะในระยะที่ 3 มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

สำหรับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะไมเกรน ทางสมาคมปวดศีรษะนานาชาติได้ตั้งหลักเกณฑ์การวินิจฉัยไว้ว่าจะต้องมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 5 ครั้งครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 3 ข้อ และไม่เข้ากับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดศีรษะชนิดอื่น ดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาในการปวดศีรษะ 4-72 ชั่วโมง
  2. มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ อาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดศีรษะแบบตุบๆ  ปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก หรืออาการปวดศีรษะเลวลงเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเดิน การขึ้นบันได
  3. มีอาการอย่างน้อย 1 ใน 2 ข้อ ได้แก่ อาการคลื่นไส้และ/หรืออาเจียน หรืออาการกลัวแสงและกลัวเสียง

สำหรับความชุกของอาการปวดศีรษะไมเกรน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เพศหญิงมีความชุกมากกว่าเพศชายเป็นสัดส่วน 2 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1 และความชุกจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีความชุกสูงสุด ที่อายุประมาณ 40 ปี อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ อาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราว (episodic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน และอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (chronic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะอย่างน้อย 15 วันต่อเดือนเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

ผู้ป่วยไมเกรนแต่ละรายควรสังเกตปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ปัจจัยกระตุ้นเป็นได้ทั้งจากสภาวะแวดล้อม หรืออาหารบางประเภท ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะได้ ในกรณีที่ไม่ทราบปัจจัยกระตุ้นหรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการความเครียด ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะได้ ปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อยได้แก่

  1. ภาวะอดนอน นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. อาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
  3. ความเครียด
  4. การอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า ๆ
  5. สถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึก
  6. อาหารบางประเภท เช่น เนย ช็อคโกแลต ถั่ว อาหารหมักดอง
  7. เครื่องดื่ม ได้แก่ ไวน์แดง เบียร์ หรือ แชมเปญ
  8. ภาวะอดอาหาร

การรักษา

ไมเกรน มีการรักษาขณะที่มีอาการปวดศีรษะอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  1. วิธีที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น นอนพัก บีบนวด ประคบเย็น หรือฝังเข็ม แต่ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐาน
  2. วิธีที่ใช้ยา

หากยังมีอาการปวดศีรษะถี่ หรืออาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

สามารถติดต่อเพื่อขอรับการตรวจและการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

แผนกผู้ป่วยนอกหรือ แผนกฉุกเฉิน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โทร 0-2256-4000