ภาวะแทรกซ้อนจาก โรคความดันโลหิตสูง


โรคความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย หากมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา จะเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ฝังอยู่ในตัวเรา รอวันแสดงอาการ ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะที่สำคัญ ดังนี้

หัวใจ – เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ผนังกล้ามเนื้อหัวใจขยายตัวใหญ่ขึ้นแต่ไม่แข็งแรง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น หลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น เสี่ยงต่อการขาดเลือดได้ง่ายยิ่งขึ้น

สมอง – โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบตันหรือเลือดออกในสมอง หากลดความดันโลหิตโดยเฉลี่ยลงมาได้ 10 มิลลิเมตรปรอท จะสามารถลดการเกิดอัมพฤกษ์ตลอดชั่วอายุได้ถึง ร้อยละ 20

ไต – ความดันโลหิตสูงเรื้อรังทำให้เนื้อไตที่เกี่ยวข้องกับการกรองของเสียออกจากร่างกายเสื่อม  ส่งผลให้ไตเสื่อมสมรรถภาพ  มีการสูญเสียโปรตีนออกมาในปัสสาวะ เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหรือไตวายเรื้อรังได้

ตา – ทำให้หลอดเลือดบริเวณจอรับภาพของตาแตก หรือมีเลือดออก ประสาทตาเสื่อม ตามัว และตาบอดได้

หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดการโป่งพองหรืออาจเกิดการฉีกขาดของผนังหลอดเลือด หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

  1. หลีกเลี่ยงอาหารเค็มทุกชนิด โดยปริมาณเกลือที่รับประทานรวมทั้งวันไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา หรือ ซีอิ๊ว เนื่องจากอาหารไทยโดยพื้นฐานมีความเค็มมากอยู่แล้ว ควรบริโภคอาหารแบบสมดุลครบ 5 หมวด มีการหมุนเวียนการบริโภคอาหาร โดยเน้นผักและผลไม้ที่ให้สารอาหารโพแทสเซียม เช่น ฟักทอง บร็อคโคลี่ ผักโขม มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง เป็นต้น ควรดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำที่ให้แคลเซียม ธัญพืชและถั่วเปลือกแข็งที่ให้แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร เช่น ถั่วแดง เต้าหู้ งา เป็นต้น
  2. ควบคุมน้ำหนักตัว โดยสำหรับคนไทย เส้นรอบเอวไม่ควรเกิน ส่วนสูงของตัวเองหารด้วย 2
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3-4 วัน ต่อสัปดาห์ วันละ 30-60 นาที
  4. งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  5. ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 2 ปี และอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  6. ผู้ที่มีความดันโลหิตระหว่าง 120/80 ถึง 139/89 มม. ปรอท จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง

สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

คลินิกอายุรกรรมทั่วไป อาคาร ภปร ชั้น 1

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย