โรคฮิตใน ผู้สูงอายุ


นับเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่สังขารย่อมร่วงโรยไปในอายุที่มากขึ้น เป็นเหตุให้ใน ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวต่างๆมากกว่าคนในช่วงอายุอื่นๆ โดยปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. กลุ่มโรคเรื้อรังทั่วไป

สาเหตุของโรค

กลุ่มโรคเรื้อรังทั่วไปอาจพบโรคในกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 60ปี เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม หรือสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกาย ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ฯลฯ  ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคตับอักเสบ เป็นต้น เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น และหรือมีโรคร่วมอื่นๆทำให้มีอาการมากกว่า 1 โรค หากควบคุมโรคได้ไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไปอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์  ตามมาได้

  1. กลุ่มโรคที่เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุ

สาเหตุของโรค

เกิดจากจากความเสื่อมถอยของร่างกายและอวัยวะภายในต่างๆตามอายุที่มากขึ้น เช่น การได้ยินลดลงหรือหูตึง การมองเห็นลดลง ตาฝ้าฟางในคนสูงอายุ ความจำแย่ลงจนอาจพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อม  โรคกระดูกข้อเสื่อมต่างๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม ข้อหลังเสื่อม  ปัญหาเรื่องการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่ เป็นต้น

บางโรคอาจเกิดตามเพศตัวอย่างเช่น ในเพศหญิงมักจะมีอาการบางอย่างชัดเจนขึ้นในวัยหลังหมดประจำเดือน(วัยทอง) เช่น ผิวแห้ง ผมบาง กระดูกบาง กระดูกพรุน ส่วนในเพศชายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก เช่น โรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับโรคต่างๆ ในวัยสูงอายุ

เนื่องจากในวัยสูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพต่างๆ ส่วนใหญ่มักมีมากกว่า 1 ปัญหา และมักเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้นหากเราปรารถนาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุจึงควรมีการเตรียมตัวให้ครอบคลุมปัญหาต่างเหล่านั้น โดยควรมีการเตรียมพร้อมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านร่างกาย

เป็นการดูแลเพื่อป้องกัน และลดความเสื่อมถอยของร่างกายและอวัยวะต่างๆ

ประกอบด้วย

  • การสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร งดเว้นสุรา บุหรี่ สารเสพติด รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ
  • การป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน การตรวจสุขภาพประจำปี
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคแล้ว เช่น มีวินัยในการรับประทานยา และมารับการตรวจรักษาสม่ำเสมอ
  1. ด้านจิตใจ

ปัญหาด้านจิตใจในผู้สูงอายุ เป็นอีกด้านที่พบได้บ่อย เช่น เรื่องความสูญเสียเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง การสูญเสียการยอมรับนับถือในสังคม รวมไปถึงการสูญเสียบุคคลในครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นจึงควรฝึกจัดการกับความเครียด ฝึกปล่อยวางไม่ยึดติด และฝึกเคารพนับถือตนเอง ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งเพื่อช่วยลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในคนสูงอายุได้

  1. ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

การดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับวัยสูงอายุ เป็นด้านที่มักถูกละเลย แต่หากมีการเตรียมตัวที่ดีถือเป็นอีกด้านที่ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณค่า การเตรียมความพร้อมในด้านนี้ ได้แก่ การรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม เช่น การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ จะทำให้ลดความเหงา โดดเดี่ยว และรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง

การเตรียมบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น เรื่องแสงสว่างภายในบ้าน การจัดวางสิ่งของต่างๆ ในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยการพยุงตัว เช่น ราวในห้องน้ำ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้มในบ้าน และนับเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ดำรงชีวิตในบ้านอย่างมีความสุข

สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

อาคาร ส.ธ. ศูนย์การดูแลผู้สูงวัยแบบบูรณาการ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย