ห้องผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอกไฮบริด ขีดสุดของเทคโนโลยีอัจฉริยะ


เมื่อข้อจำกัดในการรักษาเกิดขึ้นได้หลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านความซับซ้อนของโรค ข้อจำกัดทางร่างกายของผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งขีดความสามารถของอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายของทีมแพทย์ และเพื่อให้ก้าวทันนวัตกรรมที่ครอบคลุมทุกการรักษาโรคซับซ้อนด้านหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอก จึงจำเป็นต้องพัฒนาและเลือกสรรเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเข้ามาทำการรักษาควบคู่ไปกับประสบการณ์เชี่ยวชาญของแพทย์ คอลัมน์บอกเล่าก้าวทันหมอฉบับนี้ จะมาเล่าถึงนวัตกรรมล้ำสมัยภายในห้องผ่าตัดระบบไฮบริด (Hybrid Operating Room) ห้องผ่าตัดที่ทำได้มากกว่าการผ่าตัดเพื่อมุ่งสู่ผลทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงห้องผ่าตัดไฮบริดเป็นห้องผ่าตัดลูกผสมที่มีเทคโนโลยีหลากหลายชนิดรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการรักษาและวินิจฉัยขณะทำผ่าตัด รวมถึงการทำหัตถการที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้อย่างลงตัว ถือเป็นนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้กับการทำงานของแพทย์เป็นอย่างยิ่ง

ห้องผ่าตัดไฮบริดได้รวมสุดยอดเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมูลค่ารวมกว่า 80 ล้านบาท ครบครันด้วยระบบการทำงานที่ทันสมัยมีระบบปลอดเชื้อระดับสูง มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และยังมีระบบจัดการสัญญาณภาพภายในห้องผ่าตัดสามารถถ่ายทอดสดได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่นิสิตเแพทย์ที่เรียนรู้ผ่านระบบการสอนแสดง

ก้าวล้ำด้วยอุปกรณ์และการออกแบบที่ยกระดับเทคโนโลยีการรักษา

  • เครื่อง X-Ray ชนิดติดเพดานแบบการสวนหัวใจที่ใช้เอกซเรย์หลอดเลือดคุณภาพสูง
  • Flexmove สามารถถ่ายภาพเอกซเรย์ได้ 360 องศา มีความละเอียดทุกมุม เครื่อง X-Ray เป็นแบบติดเพดานเคลื่อนย้ายได้สะดวก ใช้ผ้าปูกระดาษและเสื้อกระดาษเพื่อป้องกันฝุ่นที่จะเข้าไปก่อกวนระบบการทำงานของอุปกรณ์และระบบปรับอากาศ
  • เตียงผ่าตัดไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการใช้งานกับการผ่าตัดหัวใจในภาวะวิกฤติ สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยการใช้รถเข็นเป็นตัวเคลื่อนย้าย มีแกนเตียงพร้อมฐาน สามารถถอดสลับพื้นเตียง พื้นเตียงทำด้วยวัสดุชิ้นเดียวยาวตลอด สามารถ X-Ray ผ่านได้ เนื่องจากทำด้วยโลหะปลอดสนิม
  • กระจกตะกั่วป้องกันรังสี ควบคุมด้วยสวิตซ์เปิด-ปิด แบบไม่ต้องสัมผัส
  • ประตูบานเลื่อนอัตโนมัติชนิดผนึกแน่น
  • ระบบควบคุมสภาวะอากาศปลอดเชื้อ (Laminar air flow) “Class 10,000” ให้ความปลอดภัยและสอดคล้องกับมาตรฐาน มีค่าความสะอาดของห้องผ่าตัดที่มีอนุภาคฝ่นุ แขวนลอยในอากาศขนาดตั้งแต่ 0.5 ไมครอนขึ้นไป รวมกันไม่เกิน 10,000 อนุภาค/อากาศ 1 ลูกบาศก์ฟุต
  • ผนังภายในห้องผ่าตัดเป็นเทคโนโลยีหินสังเคราะห์ Solid acrylic หนา 3 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Anti-bacteria) ป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ (Anti-static) ทนกรด-ด่าง แข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย
  • ระบบจัดการสัญญาณภาพภายในห้องผ่าตัด (Integration system) สามารถรองรับการส่งสัญญาณภาพระยะไกลและเชื่อมต่อเข้ากับกล้องต่างๆ ภายในห้องผ่าตัด โดยส่งสัญญาณภาพเข้าจอภาพขนาดใหญ่ สามารถถ่ายทอดภาพการผ่าตัดในพื้นที่ปลอดเชื้อออกสู่จอภาพเครื่องอื่นๆ ในห้องผ่าตัดได้ เพื่อให้แพทย์และทีมงานสามารถมองเห็นภาพการผ่าตัดและบริเวณโดยรอบได้อย่างสะดวก ภาพคมชัด รวมทั้งยังสามารถส่งเสริมการเรียนนอกห้องผ่าตัด พัฒนาระบบไปสู่ E-Learning อีกทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ได้อีกด้วย

“ห้องผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอกระบบไฮบริด
นับเป็นที่สุดแห่งความครบครันด้านเทคโนโลยี
ครอบคลุมทุกการรักษาโรคซับซ้อน

มีระบบปลอดเชื้อระดับสูง ด้วยมาตรฐานระดับสากล
ยกระดับการรักษาสูงสุดเพื่อผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย”


เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดด้วยเครื่องจี้เย็น เทคโนโลยีรักษาแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ห้องผ่าตัดไฮบริดยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดซับซ้อน ได้แก่ การรักษาด้วยเครื่องจี้เย็น (Cryoablation) ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย จากเดิมการรักษาด้วยเครื่องจี้ร้อนไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยหายใจตลอดเวลา การหายใจจะทำให้ความร้อนถูกระบายออก การรักษาด้วยเครื่องจี้ร้อนจึงไม่สามารถทำให้ความร้อนไปถึงจุดที่ทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่การรักษาด้วยเครื่องจี้เย็นโดยใช้ความเย็นอุณหภูมิ –40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นความเย็นจัดในระดับเป็นน้ำแข็ง ภายใต้อุณหภูมิระดับนี้ การหายใจตลอดเวลาจะไม่สามารถระบายความเย็นออกไปได้ อีกทั้งขณะทำการจี้เย็น แพทย์ยังสังเกตเห็นก้อนน้ำแข็งได้จากภาพรังสีสามารถประเมินได้ว่าการรักษาดังกล่าวครอบคลุมตำแหน่งที่ต้องการฆ่าเซลล์มะเร็งหรือไม่

ห้องผ่าตัดไฮบริดเหมาะสำหรับผู้ป่วยประเภทใด
ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอกที่อาการซับซ้อน และผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องใช้กระบวนการรักษาผ่านทางสายสวนร่วมระหว่างการผ่าตัดด้วย หรือกรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งอาจต้องผ่าตัดแก้ไขเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardio Vascular Thoracic Surgery)
  • ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ
  • การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (Tran Arterial Valvular Implantation: TAVI)
  • ผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจแต่ก􀄞ำเนิด

ศ.นพ.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคซับซ้อนทางทรวงอกและหลอดเลือดในรูปแบบเดิม แพทย์ต้องวางแผนการรักษาที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งกระบวนการและขั้นตอนต่างๆนั่นไม่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณผู้ป่วยเด็ก เด็กที่เป็นโรคไม่มีห้องหัวใจซีกซ้าย วันแรกต้องทำการรักษาด้วยการใส่ขดลวดเส้นเลือดที่ขั้วหัวใจไว้ก่อน จากนั้นผ่านไปอีกหนึ่งวันจึงทำการผ่าตัดรัดเส้นเลือดที่ไปปอดได้ หรือในกรณีผ่าตัเส้นเลือดโป่งพอง จะต้องผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดที่คอและใส่ขดลวดไปพร้อมกัน จากเดิมที่ต้องทำการรักษาหลายห้องหรือหลายวัน ห้องผ่าตัดไฮบริดแห่งนี้จะเข้ามาตอบโจทย์การรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษามากกว่าหนึ่งอย่างในคราวเดียวกัน

ผลลัพธ์การรักษาที่เต็มเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

  • ครบวงจร ครอบคลุมทุกการรักษาโรคทรวงอกซับซ้อน โรคหลอดเลือดและหัวใจ ใส่ขดลวดหัวใจในคราวเดียวกัน
  • ลดความบอบช้ำของผู้ป่วย ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
  • สะดวก ปลอดภัย ปลอดเชื้อ ด้วยมาตรฐานระดับโลก
  • เป็นศูนย์กลางความรู้ การเรียนการสอน และการวิจัย

ศ.นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ห้องผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอกระบบไฮบริดยกระดับงานบริการทางการแพทย์ด้วยการรวมเทคโนโลยีขั้นสูงไว้อย่างครบครัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในระดับที่เป็นเลิศ ฟื้นตัวไว กลับบ้านได้เร็วและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น