ห้องผ่าตัดระบบไฮบริด(Hybrid) นวัตกรรมอิจฉริยะเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ


“ระบบลูกผสม” (Hybrid System) หรือ เทคโนโลยีที่เป็นการผสมผสานของ 2 สิ่งขึ้นไปที่ต่างชนิดกัน ได้สร้างปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงให้กับเทคโนโลยีมากมายในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะในแวดวงชีววิทยา สิ่งประดิษฐ์ หรือยานยนต์ วงการแพทย์ก็มีนวัตกรรมที่ได้รับการต่อยอดมาจากเทคโนโลยีลูกผสมนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ห้องผ่าตัดระบบไฮบริด (Hybrid Operating Room)” หรือ ห้องผ่าตัดที่มีศักยภาพทำได้มากกว่าการผ่าตัดโดยสามารถช่วยให้กระบวนการในการวินิจฉัยและรักษาด้วยหัตถการต่างๆ รวมถึงการผ่าตัดเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน จึงถือเป็นนวัตกรรมอัจฉริยะที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำงานของแพทย์ พร้อมทั้งช่วยผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดและหัวใจให้สามารถฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น

คอลัมน์นี้จะพาไปเยี่ยมชมและรู้จักกับ “ห้องผ่าตัดระบบไฮบริด” ห้องล่าสุดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 5 อาคาร สก หากจะเรียกห้องผ่าตัดระบบไฮบริดแห่งนี้ว่าเป็น “ขั้นกว่า” ของห้องผ่าตัดระบบไฮบริดทั้งหมดที่เคยมีมาในประเทศไทยก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริงนัก

ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดหัวใจและทรวงอก หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ห้องผ่าตัดนี้เป็นห้องผ่าตัดระบบไฮบริด (Hybrid Operating Room) แห่งที่ 2 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพิ่งเปิดใช้งาน เมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2561 โดยปกติแล้วห้องผ่าตัดระบบไฮบริดของโรงพยาบาลอื่นๆ จะออกแบบไว้ “เผื่อผ่าตัด” ในกรณีที่แพทย์จำเป็นต้องทำ การผ่าตัดฉุกเฉินทันที หากมีปัญหาในการทำ หัตถการหัวใจ หรือหลอดเลือดแต่สำหรับห้องผ่าตัดระบบไฮบริดห้องนี้เป็นห้องผ่าตัดแห่งแรกของประเทศที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการรักษาที่จำเป็นต้องใช้หัตถการอย่างน้อย 2 อย่างขึ้นไปพร้อมๆ กันหรือต่อเนื่องกันทันที เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ร่างกายของผู้ป่วยบอบชํ้าน้อยลง ผู้ป่วยดมยาสลบเพียงครั้งเดียวหรือผ่าตัดเปิดครั้งเดียว แต่ได้รับการรักษาด้วยหัตถการหลายอย่างห้องผ่าตัดระบบไฮบริดแห่งนี้เหมาะสำหรับทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจที่มีภาวะอาการซับซ้อนและผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจแต่กำเนิด และผ้ปู่วยโรคเส้นเลือดแดงใหญ่ โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบในผ้ปู่วยสูงอายุ เป็นต้น

ศ.นพ.วิชัย ยกตัวอย่างการรักษาในห้องผ่าตัดระบบไฮบริด เช่น การใส่เส้นเลือดเทียมทางขาหนีบ ซึ่งบางตำแหน่งในการวางเส้นเลือดเทียม อาจเป็นจุดตัดของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองของผู้ป่วย ทำให้ต้องมีการผ่าตัดเบี่ยงเลือดร่วมด้วย ตลอดจนการรักษาที่ซับซ้อนและทำได้ยาก เช่น การผ่าตัดเปิดพร้อมกับการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ สำหรับในผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่หัวใจปล่อยกระแสไฟฟ้าผิดปกติได้ ทำให้ต้องมีการผ่าตัดเปิดก่อนเมื่อเปลี่ยนมาใช้ห้องผ่าตัดระบบไฮบริด ผู้ป่วยจะได้รับการทำหัตถการทั้ง 2 อย่างพร้อมกันโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปไหน จากเดิมที่การจี้ไฟฟ้าต้องทำในห้องสวนหัวใจและการผ่าตัดต้องทำในห้องผ่าตัดเท่านั้น

หลักการสำคัญที่ทำให้การทำหัตถการในห้องผ่าตัดระบบไฮบริด มีประโยชน์ต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วยคือห้องผ่าตัดแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้มีขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อรวมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมากเอาไว้ด้วยกัน เช่น เครื่องมือสำหรับการผ่าตัด, การฉีดสี, การสวนหัวใจ, การทำบอลลูน, การตรวจหามะเร็ง (CT Scan) รวมถึงการจี้รักษามะเร็งแบบเย็น ซึ่งปัจจุบันเครื่องจี้รักษามะเร็งแบบเย็นมีเฉพาะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ความครบครันของเครื่องมือเหล่านี้ทำให้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ อายุรแพทย์หัวใจ วิสัญญีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค สามารถเข้าทำงานได้พร้อมกันหรือต่อเนื่องกันทันทีโดยไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จึงทำให้การรักษารวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น สำหรับการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดและหัวใจในห้องผ่าตัดระบบไฮบริด แพทย์จะเลือกใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimal invasive Surgery) ทำให้เกิดแผลผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลงให้ผลลัพธ์ในการรักษาดี ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวกลับบ้านได้เร็วขึ้นในอนาคตทางศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เตรียมพร้อมที่จะใช้ห้องผ่าตัดไฮบริดแห่งนี้แทนห้องสวนหัวใจ สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์จำเป็นต้องเจาะผ่าบริเวณช่องอก เพื่อใส่ท่อเข้าไปทำการกางลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน รวมไปถึงการพัฒนาหนทางการรักษาทุกๆ รูปแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ศ.นพ.วิชัย กล่าวสรุปว่า โรคหลอดเลือดและหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมีทั้งแบบควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ และแบบที่ควบคุมได้ เช่น พฤติกรรม ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ ควรป้องกันด้วยการออกกำลังกายเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารรสจัด การสูบบุหรี่ เป็นต้น และที่สำคัญควรตรวจสุขภาพอย่างสมํ่าเสมอเพื่อจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้อง ทันเวลาและยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้อีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาแนะนำหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานชั่วคราวศูนย์โรคหัวใจ ชั้น 4 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
หมายเลขโทรศัพท์(02) 256 4917 หรือติดตามข่าวสารทางเว็บไซต์
http://www.chulacardiaccenter.org