คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ในอดีตกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender People) หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิดมักพบเจอกับข้อจำกัดในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ไม่ได้รับการแนะนำการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น สังคมไทยให้การยอมรับเรื่องเพศโดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น การติดต่อหรือเข้ารับการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศเป็นเรื่องเปิดเผยมากขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งผู้มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือปัญหาฮอร์โมนเพศ และการเปลี่ยนแปลงในสตรีเมื่อถึงวัยหมดระดูเองก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ใกล้ตัวและหลายคนประสบมาโดยตลอด จะขอเล่าถึงความเป็นมาของคลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการบริการแบบองค์รวมแก่บุคคลข้ามเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบทุกเพศ ทุกวัย และสตรีวัยหมดระดูที่ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศที่ลดลง และยังมุ่งเน้นงานทางวิชาการ สร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ทางเพศและสตรีวัยหมดระดู เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาบัณฑิต การฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในทุกสาขาและการวิจัยค้นคว้าเพื่อสรรสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ของศาสตร์ทางด้านนี้

รศ.นพ.กระเษียร กล่าวเพิ่มเติมว่า คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) มีจุดเด่นที่ก􀄞ำลังเป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั่นคือ การดูแลกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender People) แบบครบวงจร ยึดหลักการทำงาน “ครอบคลุม เข้าใจ ห่วงใย ไม่แบ่งแยก” โดยร่วมมือกับองค์กรระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น World Professional Association for Transgender Health (WPATH), Asian Professional Association for Transgender Health (AsiaPATH), Thailand Professional Association for Transgender Health (ThaiPATH) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ หรือ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์และสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสหสาขา ได้แก่

  • หน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ฝ่ายศัลยศาสตร์ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านดูแลด้านผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัย อาทิ การตัดหน้าอกในชายข้ามเพศผ่านกล้อง การสร้างช่องคลอดใหม่ในหญิงข้ามเพศด้วยการใช้เยื่อบุช่องท้องแบบติดขั้วเส้นเลือด ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในโลก เป็นต้น
  • ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ บริการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ในชายข้ามเพศทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่านกล้อง รวมทั้งบริการทางนรีเวชวิทยาสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ
  • ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ ให้คำปรึกษาและประเมินความพร้อมก่อนการใช้ฮอร์โมนหรือการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลหรือซึมเศร้าที่พบมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป นับเป็นแห่งแรกๆของประเทศไทย ที่มีจิตแพทย์มาให้บริการร่วมด้วย
  • หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ฝ่ายอายุรศาสตร์ ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
  • ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศในเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งให้บริการเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการเข้าสู่วัยแรกรุ่นในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการดูแลปฏิบัติตนและการใช้ฮอร์โมนที่ไม่ถูกต้องแล้วนั้น กลุ่มคนข้ามเพศบางรายอาจยังมีความกังวลอีกหลายประการ อ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู จะมาไขทุกข้อสงสัย ดังนี้

Q : กรณีที่กลุ่มบุคคลข้ามเพศต้องการมีบุตรที่เป็นพันธุกรรมของตนเองควรทำอย่างไร?
A : กลุ่มบุคคลข้ามเพศสามารถเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ไว้ก่อน ด้วยการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ตั้งแต่ก่อนการรับบริการเพื่อการข้ามเพศ ทั้งการเก็บอสุจิของหญิงข้ามเพศและเซลล์ไข่ของชายข้ามเพศ ผ่านวิทยาการที่ทันสมัยของหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ แล้วใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในการปฏิสนธิ (เด็กหลอดแก้ว) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการทำเด็กหลอดแก้วของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กฎหมายของ
ประเทศไทยยังกำหนดให้เฉพาะคู่สมรสตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถ
ทำเด็กหลอดแก้วได้

Q : การรับข้อมูลผิดๆ จากสื่อออนไลน์และนำไปปฏิบัติตามอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้จริงหรือไม่?
A : จริง ในอดีตผู้รับบริการกลุ่มนี้รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์หรือจากผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ หลายครั้งทำให้มีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่การปฏิบัติตามอย่างผิดวิธีและมีความเสี่ยง เช่น ใช้ฮอร์โมนเองเกินขนาดหรือหาซื้อยาที่ไม่มีมาตรฐานมารับประทานหรือฉีดเอง อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหรือเกิดการติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและรับคำแนะนำการใช้ฮอร์โมนให้เหมาะสมต่อไป

จากปัญหาดังกล่าว อ.นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู กล่าวเพิ่มเติมว่า คลินิกสุขภาพเพศยังมีเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Page) “คลินิกสุขภาพเพศ รพ.จุฬาลงกรณ์” ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ที่ทีมแพทย์ในหลากหลายสาขาคอยสื่อสาร ให้ความรู้ตอบคำถามเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้ผู้รับบริการที่เข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์และเป็นแหล่งความรู้เพื่อพัฒนาการบริการ เป็นประตูสู่การศึกษาและวิจัยแก่กลุ่มนิสิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ

สำหรับการเข้ารับบริการในคลินิกสุขภาพเพศของกลุ่มคนข้ามเพศ
นั้น อ.นพ.ธนภพ กล่าวว่า แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  • กรณีของผู้รับบริการที่มีประวัติการรับบริการเดิมจากสถานบริการอื่นอยู่แล้ว สามารถนำประวัติการรับบริการจากที่เดิมทั้งหมดมาติดต่อที่คลินิกสุขภาพเพศได้ โดยทางคลินิกจะพิจารณารับบริการต่อตามแผนการบริการที่เหมาะสมต่อไป
  • กรณีผรูั้บบริการที่ไม่เคยเขา้ รับบริการมาก่อน สามารถติดต่อทำนัดที่คลินิกสุขภาพเพศ แพทย์จะประเมินว่าผู้รับบริการสามารถรับยาปรับฮอร์โมนได้หรือไม่ รวมถึงประเมินการส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศัลยกรรมหรืออายุรกรรมร่วมด้วย

รศ.นพ.กระเษียร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ณ ปัจจุบันนี้เราเป็นผู้นำในการบุกเบิกและผู้ประสานการดูแลกลุ่มคนข้ามเพศทั่วประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเราจะเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรม ทั้งทางด้านงานวิจัยและวิชาการ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมผู้ดูแลในอนาคตด้วย เพื่อให้มีการจัดตั้งคลินิกที่ดูแลสุขภาพเพศทั้งกลุ่มคนข้ามเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศ การใช้ฮอร์โมนหลายรูปแบบตามข้อบ่งชี้ รวมถึงเพื่อรักษาอาการในสตรีวัยหมดระดูด้วย เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลคนกลุ่มนี้ให้ได้มาตรฐาน แต่เดิมผู้รับบริการกลุ่มนี้ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ที่คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการด้วยมาตรฐานระดับอาจารย์แพทย์และเสียค่าใช้จ่ายในราคาย่อมเยา

มนุษย์มีความคิดลึกซึ้งและเปิดกว้าง
เราไม่ควรปิดกั้นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
เราไม่สามารถเลือกเพศที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดได
แต่เราเลือกที่จะเป็นเพศที่ต้องการได้

รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ

ช่องทางติดต่อ
คลินิกสุขภาพเพศ อาคาร ภปร ชั้น 15 (เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ย้ายไปทำการที่ชั้น 7)
โทร. (02) 256 5304, (02) 256 5299, (02) 256 5286