แถลงข่าว “ทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย”

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว “ทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย” ยืนยันความสำเร็จของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สามารถแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยาก ให้กำเนิดทารกที่เจริญเติบโต เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สามารถแต่งงานและให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงได้  เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม  2561  ณ ห้องประชุมจรัญพัฒน์ ชั้น 6 ตึกอุปการเวชชกิจ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.กิตติคุณ นพ. ประมวล วีรุตมเสน ที่ปรึกษาหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์  อาจารย์แพทย์ฝ่ายสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย และ รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ หัวหน้าหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดประวัติศาสตร์“ทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย”

จากความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย ที่สามารถให้กำเนิดทารกเพศชายรายแรก (คุณปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี) ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ซี่งถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการรักษาคู่สมรสที่มีภาวะการมีบุตรยากนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2530 ณ หน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของทีมคณาจารย์แพทย์นำโดย ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จนมีทารกที่เกิดจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณาจารย์แพทย์ได้ติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กหลอดแก้วรายแรกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทางฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับทราบข่าวดีอีกครั้ง ที่ภรรยาของคุณปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติและได้มาฝากครรภ์ ตรวจติดตามอาการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จนกระทั่งในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2561 เวลา ประมาณ 09.00 น. ภรรยาของคุณปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี ได้ให้กำเนิดบุตร เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,223 กรัม มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ภายใต้ความร่วมมือของคณาจารย์แพทย์ประจำฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา และทีมพยาบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคลอดบุตรที่บิดาเป็นเด็กหลอดแก้วรายแรกของประเทศไทย เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สามารถแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยาก ให้กำเนิดทารกที่เจริญเติบโต เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สามารถแต่งงานและให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงได้

          กว่า 3 ทศวรรษ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่หยุดพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัยและการบริการทางแพทย์แบบครบวงจร เพื่อให้เกิดการผลักดันคุณภาพการบริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานโลก ดังตัวอย่างเช่น ปัจจุบันหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาฯ นอกจากให้การบริการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากแล้ว ยังได้ริเริ่มพัฒนาการให้บริการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ (ovarian tissue cryopreservation) ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตรภายหลังการรักษามะเร็ง (fertility preservation) เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปจัดเป็นเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ริเริ่มพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการวิจัยเชิงลึกเพื่อให้สามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริงทางคลินิกปฏิบัติ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชา ได้แก่ ความรู้ทางชีววิทยาการเจริญพันธุ์และวิศวกรรมชีวเวช เพื่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรังไข่ภายนอกร่างกาย (ovarian tissue culture) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการคัดแยกเซลล์ไข่ (follicle isolation) เพื่อนำมาเลี้ยงภายนอกร่างกาย (in vitro culture) หรือเพื่อการนำมาสร้างเป็นรังไข่เทียม (transplantable artificial ovary) ในอนาคต เพื่อสร้างทางเลือกและแก้ไขปัญหาภาวะการเจริญพันธุ์สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตร โดยองค์วามรู้ดังกล่าวเป็นการส่งผ่านความรู้ (technology transfer) จากความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดเป็นกลุ่มบุคลากรกลุ่มแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าว โดยยึดหลักการการก่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยเป็นสำคัญ