นวัตกรรม AI ตรวจหาติ่งเนื้อ เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

แห่งแรกในประเทศไทย

หากกล่าวถึงอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยนั้น พบอัตราการเกิดผู้ป่วยรายใหม่และเสียชีวิตมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากโรคมะเร็ง ตับและมะเร็งเต้านม ด้วยเหตุนี้เองการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตัดติ่งเนื้อ (Polypectomy) ก่อนมีอาการแรกเริ่มจึงมีความสำคัญ ดังนั้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อตรวจหารอยโรคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี

CAD EYE (Computer Aided Detection) ระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ที่มีความสามารถในการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ นวัตกรรมล่าสุดแห่งแรกของประเทศไทยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำเข้ามาใช้เพื่อช่วยตรวจคัดกรองและป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โอกาสนี้ รศ.พญ.สติมัย อนิวรรณน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมาบอกเล่าถึงข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่นี้ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน

รศ.พญ.สติมัย กล่าวว่า การตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่รูปแบบเดิม แพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้อง เมื่อพบความผิดปกติจึงจะดำเนินการตัดติ่งเนื้อออก วิธีนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากลักษณะภายในลำไส้ใหญ่มีความซับซ้อนจุดโค้ง รอยพับงอ มีหลายจุด การสังเกตผ่านกล้องที่สอดเข้าไปนั้นอาจไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้ทำให้หลายครั้งไม่พบรอยโรค รวมทั้งติ่งเนื้อมีหลายลักษณะ อาทิ เป็นก้อนหรือติ่งนูนกลมมองเห็นชัดเจน หรือติ่งที่มีลักษณะแบนราบไปกับลำไส้ ซึ่งลักษณะนี้เองหากดูด้วยตาเปล่าจะสังเกตได้ยาก

หลังจากที่ หน่วยระบบทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำนวัตกรรม CAD EYE (Computer Aided Detection) ระบบปฏิบัติการ
AI เข้ามาช่วยตรวจหาติ่งเนื้อตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา พบว่าระบบดังกล่าวช่วยตรวจพบติ่งเนื้อได้รวดเร็วมากขึ้น มีมุมมองการตรวจจับได้ในระยะไกลและเห็นเป็นวงกว้าง แม่นยำ เที่ยงตรงมากด้วยระบบแจ้งเตือนรูปแบบเสียงและแสดงภาพขึ้นหน้าจอ โดยใช้หลักการเดียวกับการจดจำใบหน้า
(Face Recognition) นอกจากนี้ยังมีความสามารถที่ก้าวล้ำยิ่งขึ้นคือ เมื่อเปลี่ยนโหมดการทำงาน AI สามารถประเมินและวิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่าติ่งเนื้อที่พบเป็นติ่งเนื้อชนิดที่ผิดปกติ หรือชนิดที่อาจจะเป็นมะเร็งได้ในอนาคต โดยระบบการแจ้งเตือนในรูปแบบของสีต่างๆ ดังนี้
สีเขียว = ปกติ
สีเหลือง = เฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม การแสดงผลแจ้งเตือนดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ยืนยันความถูกต้องการตรวจเจอความผิดปกติของระบบอีกครั้งซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติมเรื่องการลดแจ้งเตือนอันเกิดมาจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ติ่งเนื้อ เนื่องจากภายในลำไส้ของมนุษย์จะมีลักษณะโค้ง พับ งอ และมีฟองอากาศ หรือกากใยอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีลักษณะกลมนูน คล้ายคลึงกับติ่งเนื้อที่ระบบต้องการตรวจพบเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีการแจ้งเตือนขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งหน่วยระบบทางเดินอาหารกำลังเร่งดำเนินการพัฒนาให้ระบบได้เรียนรู้และแจ้งเตือนแพทย์กลับด้วยความแม่นยำเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น

มุ่งพัฒนานวัตกรรม AI เพื่อตอบโจทย์การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

  • เพิ่มประสิทธิภาพ : เพื่อการตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และคาดว่าในอนาคตความสามารถในการพัฒนาระบบ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น
  • เพิ่มความแม่นยำ : ความแม่นยำของระบบจะลดจำนวนครั้งในการตัดชิ้นเนื้อที่ผิดพลาดได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและญาติได้
  • เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ : ระบบ AI สามารถรองรับการให้บริการได้ประมาณ 20 คนต่อวัน โดยใช้เวลาในการตรวจเพียง 5 – 10 นาทีเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่นำเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • เพิ่มศักยภาพในฐานะโรงเรียนแพทย์ : ความสามารถของระบบAI นี้จะเข้ามาช่วยเหลือแพทย์ในฐานะที่เป็นมากกว่าเครื่องมือช่วยตรวจและวินิจฉัย AI จะเป็นทั้งเพื่อนและครูในคราวเดียวกัน ในขณะเดียวกันเราเองต้องสอนให้ระบบนี้มีความชาญฉลาดมากที่สุด เพราะฉะนั้นการยอมรับเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย โรงเรียนแพทย์ รวมถึงพัฒนางานวิจัยต่อไป

สำหรับการพัฒนาระบบ AI ตรวจหาติ่งเนื้อในล􀄞ำดับถัดไปหน่วยระบบทางเดินอาหารเตรียมแผนพัฒนาความสามารถด้านการตรวจหารอยโรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ การตรวจหารอยโรคของมะเร็งที่ปนเปื้อนอยู่กับแผล ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนที่หน่วยระบบทางเดินอาหาร กำลังจัดเตรียมข้อมูลเพื่อดำเนินการป้อนข้อมลู ให้ระบบ AI นั่นหมายความว่าหากมีฐานข้อมูลที่มีปริมาณมาก ระบบจะตรวจจับความผิดปกติได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

หน่วยระบบทางเดินอาหารยังดำเนินการพัฒนาระบบควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรผู้ใช้งานระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถการใช้งานให้เปี่ยมประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งระหว่างนี้ยังทำการวิจัยเปรียบเทียบขีดความสามารถการทำงานของระบบ AI กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และความสามารถในการทำงานร่วมกันว่าลักษณะใดจะมีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำมากที่สุดอีกด้วย

ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และผ่าตัดส่วนที่คาดว่าจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ออกไปให้รวดเร็วที่สุดมีความสำคัญอย่างมากในการคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคในอนาคต ถือเป็นการกำจัดต้นตอของโรคตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ เนื่องจากอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ป่วยอายุ 60 ปี ดังนั้นการเข้ามาตรวจหารอยโรคตั้งแต่อายุ 50 ปี ก็จะสามารถป้องกันการเกิดของโรคในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านพันธุกรรมในครอบครัวด้วย อาทิ หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งในช่วงอายุ 55 ปี สมาชิกในครอบครัวนั้นจำเป็นต้องเข้ามาตรวจคัดกรองล่วงหน้า 10 ปี นั่นหมายความว่าควรเข้ามาตรวจในช่วงอายุประมาณ 45 ปี นั่นเอง ซึ่งแนวคิดและหลักการนี้ตรงกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้สำหรับค่าบริการโดยประมาณจะอยู่ที่ 3,500 – 5,500 บาทต่อครั้ง

รศ.พญ.สติมัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เราจำเป็นต้องยอมรับว่า แม้ AI ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมานี้จะมีประสิทธิภาพและความสามารถในการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ระบบนี้ไม่มีหัวใจ ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการคัดกรองดังกล่าวยังคงต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการวิเคราะห์และประมวลผลออกมาเพื่อมุ่งไปสู่กระบวนการวินิจฉัยที่ถูกต้องและตรงจุดที่สุด