ทางเลือกใหม่พิชิตมะเร็ง


โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ จึงนำมาสู่ความพยายามศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากในปัจจุบันเพื่อความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็ง หลักการหนึ่งที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากคือ “Precision Medicine” หรือ “หลักการแพทย์แม่นยำ” ซึ่งเป็นหลักการที่หวังผลการรักษาแบบถูกต้องแม่นยำโดยการเลือกวิธีรักษาแบบเฉพาะรายบุคคล ผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกันอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกันทำให้การรักษาแบบเดียวกัน แต่ได้ผลไม่เหมือนกัน จำเป็นจะต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรใช้การรักษาวิธีใดจึงจะได้ประโยชน์สูงที่สุด หลักการนี้สอดคล้องกับแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “Theranostics” ซึ่งเกิดจากการรวมกันของคำว่า “Therapy (การรักษา)” และ “Diagnostic (การวินิจฉัย)” เป็นแนวคิดที่จะให้การรักษาแบบมุ่งเป้าตามผลการตรวจวินิจฉัย เช่น วินิจฉัยให้ได้ว่ามะเร็งของผู้ป่วยรายนี้มีโมเลกุลใดที่สามารถเป็นเป้าหมายของการรักษาได้ แล้วจึงให้การรักษาแบบมุ่งเป้าไปยังโมเลกุลนั้นโดย “วิธีการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์” ถูกนำมาใช้กับแนวคิดนี้ได้อย่างลงตัวปัจจุบันแนวคิด Theranostics ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้นำวิธีการนี้มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและเป็นที่แรกๆ ในการรักษาเนื้องอกนิวโรเอ็นโดครีน มาทำความรู้จักกับวิทยาการในการรักษามะเร็งแบบใหม่นี้ไปพร้อมๆ กัน

การรักษามะเร็งด้วยสารเภสัชรังสีเป็นวิธีการรักษาที่ใช้การให้สารเภสัชรังสีเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโดยตรง เพื่อให้สารเภสัชรังสีนั้นไปจับที่เซลล์มะเร็งและแผ่รังสีทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งแตกต่างจากการรักษามะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) ที่จะใช้เครื่องฉายรังสีจากภายนอกร่างกายของผู้ป่วยหรือเคมีบำบัด (Chemotherapy) ที่ยาเคมีจะทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติอื่นๆ ที่แบ่งตัวเร็วทำให้เกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก ส่วนการใช้สารเภสัชรังสีนั้นส่วนใหญ่จะมีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็งและรังสีที่แผ่ออกมาจะทำลายเฉพาะเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีกว่าการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดเป็นอย่างมาก

“การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเภสัชรังสี”

รศ.นพ.ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา และผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยสารเภสัชรังสี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ในผู้ชายทั่วโลกนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยปกติแล้วแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนและ/หรือการให้เคมีบำบัด ซึ่งเมื่อรักษาไปได้สักระยะหนึ่งมักพบว่ามะเร็งดื้อยา อีกทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด จนกระทั่งมีการศึกษาวิจัยพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่จะมีโมเลกุลที่เรียกว่า PSMA เป็นจำนวนมากที่ผนังเซลล์ ซึ่งสามารถเป็นโมเลกุลเป้าหมายในการรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สำหรับสารเภสัชรังสีที่ใช้จะประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก (เรียกว่าสารเภสัช) คือส่วนที่จับกับ PSMA บนผนังเซลล์มะเร็งและส่วนที่ 2 คือสารกัมมันตรังสี เรียกทั้ง 2 ส่วนรวมกันว่า “สารเภสัชรังสี” ทั้งนี้การรักษาที่จะได้ผล ผู้ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยว่ามีโมเลกุล PSMA บนผนังเซลล์เสียก่อนจึงจะสามารถให้การรักษาได้ ซึ่งสารเภสัชดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ได้ทั้งการวินิจฉัยและการรักษาตามหลักการของ Theranostics เพียงแต่ใช้สารกัมมันตรังสีต่างชนิดกัน ทำให้สามารถหวังผลการรักษาได้ ซึ่งจากการรักษาในต่างประเทศพบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ และเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้นำวิธีนี้มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หลังจากพบว่าเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่งในต่างประเทศ โดยมีผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาราวร้อยละ 70 – 80 สำหรับในประเทศไทย รศ.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีใช้สารเภสัชรังสีนี้ในจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอย่างน้อย 200,000 บาท ต่อการรักษาในแต่ละครั้ง และควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่องทุกๆ 6 – 8 สัปดาห์ไปอย่างน้อย 4 ครั้ง ทำให้จนถึงทุกวันนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่ถึง 10 ราย ซึ่งรศ.นพ.ธวัชชัย กล่าวสรุปว่า อาจต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตที่จะมาช่วยเติมเต็มข้อจำกัดทางด้านค่าใช้จ่าย และช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวได้มากขึ้น

“การรักษาเนื้องอกนิวโรเอ็นโดครีนด้วยเภสัชรังสี”

ในส่วนของการรักษาเนื้องอกนิวโรเอ็นโดครีนด้วยเภสัชรังสี รศ.พญ.สุภัทรพร เทพมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เนื้องอกนิวโรเอ็นโดครีนหรือเนื้องอกเน็น (Neuroendocrine Neoplasia – NEN) เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดจากเซลล์ของระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท ซึ่งพบได้ในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ปอด ผิวหนัง และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้นเนื้องอกเน็นจะมีตั้งแต่เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (NET) ซึ่งจะไม่มีการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ไปจนถึงเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง (NEC) ซึ่งมีการลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้

สำหรับการรักษาด้วยสารเภสัชรังสีนั้น เรียกว่า PRRT โดยโมเลกุลเป้าหมายของเนื้องอกชนิดนี้คือ ตัวจับ Somatostatin ซึ่งพบบนเยื่อหุ้มเซลล์มะเร็งปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยเนื้องอกแบบ NEC ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้ว และเช่นเดียวกับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากก่อนการรักษาเนื้องอกนี้จะต้องตรวจก่อนว่ามีตัวจับ Somatostatin บนเซลล์ของเนื้องอกหรือไม่ หากพบว่ามี จึงจะสามารถให้การรักษาได้ โดยทั้งการตรวจและการรักษาก็จะใช้สารเภสัชชนิดเดียวกันตามหลักของ Theranostics แต่จะใช้สารกัมมันตรังสีต่างชนิดกัน สำหรับวิธีการรักษาก็จะคล้ายกับมะเร็งต่อมลูกหมากคือจะฉีดสารเภสัชรังสีนี้ให้ผู้ป่วยทุกๆ 6 – 8 สัปดาห์ไปเรื่อยๆโดยทั่วไปแล้วจะทำอย่างน้อย 3 – 4 ครั้ง

รศ.พญ.สุภัทรพร กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เริ่มทำการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยจุดเด่นของการรักษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์คือการเลือกใช้สารเภสัชรังสีที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน โดยใช้สารกัมมันตรังสีแบบ Non-Carrier Added และสารเภสัชชนิด High Affinity จึงจับกับเซลล์มะเร็งได้ดี ดังภาพที่ 1 ซึ่งเตรียมโดย รศ.ดร.ภก.ชูอิจิ ชิระโทริ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีการเตรียมพร้อมผู้ป่วยก่อนการให้สารเภสัชรังสีเพื่อปกป้องการทำงานของไตด้วยการใช้สารละลายกรดอะมิโนที่มีความเข้มข้นเหมาะสม ซึ่งเตรียมโดย ภญ.สุรีย์ นิมิตรวงศ์สิน หัวหน้าหน่วยผลิตยาปราศจากเชื้อกลุ่มงานเภสัชกรรมและคณะ ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากมาเข้ารับการรักษาในครั้งต่อๆ ไป

อย่างไรก็ดี การรักษาเนื้องอกนิวโรเอ็นโดครีนด้วยสารเภสัชรังสีในประเทศไทย ณ ปัจจุบันยังมีไม่มากนักแต่ในต่างประเทศพบว่า ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้ว ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยสารเภสัชรังสีอาจมีโอกาสหายขาดจากโรคได้ร้อยละ 1 – 2 และพบว่าปริมาณเนื้องอกลดลงได้ถึงร้อยละ 17 – 50 โดยพบผลข้างเคียงขั้นรุนแรงจากการรักษาน้อยมาก

ติดต่อสอบถามได้ที่ สาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา
ชั้น 2 และชั้น 3 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 15.00 น.
โทรศัพท์ (02) 256 4000 ต่อ 80233 – 80234