ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน


ถึงแม้ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ยังไม่มียาใดสามารถรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้ จุดประสงค์ของการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สำคัญคือ การดูแลและรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติ ลดอัตราเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน ที่เกิดกับผู้ป่วยให้ได้น้อยที่สุด ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นมานานหลายปี ความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็น เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือด และยิ่งควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติมากเท่าไร ก็จะช่วยชะลอและลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนเรื้อรังลงได้มากเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรงหรือเลือดเป็นกรด ซึ่งทั้ง 3 อาการก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  2. ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง คือเกิดในระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นความเสื่อมของเส้นเลือดตามอวัยวะต่างๆในร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตาและเส้นเลือดที่ขา

ตัวอย่างภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง ได้แก่  เบาหวานขึ้นตา ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีเส้นเลือดเล็ก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดทำงานได้ไม่ดี นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวาน มีความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย ทำให้เส้นเลือดตีบง่ายและอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถึงขั้นตาบอดได้

สำหรับเบาหวานลงไต ในช่วงแรกจะไม่มีความผิดปกติปรากฏ นอกจากไตทำงานหนัก อาจจะมีโปรตีนรั่วหรือไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ การทำงานของไตลดลง ทำให้มีของเสียคั่ง น้ำคั่ง  ทำให้เกิดตัวบวม แขนขาบวม อาจถึงขั้นล้างไตหรือเปลี่ยนไต

ส่วนอวัยวะที่มีเส้นเลือดใหญ่ ได้แก่ สมอง หัวใจและเท้า ผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดภาวะเส้นเลือด สมองตีบ ซึ่งสามารถทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือ เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนที่เท้า ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการชาปลายมือ ปลายเท้าอยู่แล้วหากเกิดแผล แผลก็จะหายช้า หรืออาจมีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนถ้าไม่ทำการรักษาให้ทันอาจทำให้สูญเสียนิ้วเท้าหรือตัดเท้าได้

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องรู้จักคำว่า “น้ำตาลสะสม” และเป้าหมายในการรักษาตนเองน้ำตาลสะสม ควรมีระดับที่เท่าไหร่ ซึ่งเป้าหมายแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาหารและการควบคุมอาหารเป็นหลักการสำคัญในการดูแลตนเอง ซึ่งจะต้องรับประทานอาหารที่เหมาะสม จำกัดอาหารจำพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล เน้นทานผัก ผลไม้ แต่ผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน สับปะรด มะม่วง ก็ไม่ควรที่จะรับประทานมาก นอกจากนี้การออกกำลังกายก็จะทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้นและสิ่งที่มักมาคู่กับโรคเบาหวาน คือ ความดันโลหิตและระดับไขมันก็ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
แผนกผู้ป่วยนอก อาคาร ภปร ชั้น 1 โทรศัพท์ 02 256 4000
หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4101

Nová online kasina s bonusem bez vkladu, doporučená Betzoidem