6 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ


คำว่า “โรคหัวใจ” คือคำกว้างๆที่หมายความครอบคลุมโรค และอาการหลากหลายเกี่ยวกับการทำงานหัวใจที่ผิดปกติ โดยสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ  2. หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ  3.ลิ้นหัวใจผิดปกติ และ 4. เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ

6 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ

  1. การที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น   โรคเบาหวาน   โรคความดันโลหิตสูง   ไขมันในเลือดสูง   โรคอ้วน   การสูบบุหรี่   ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมทางครอบครัว
  2. อาการแน่นหน้าอก คนไข้จะรู้สึกเหมือนมีคนมานั่งทับหน้าอกเรา มาเหยียบหน้าอกเรา มีอาการร้าวขึ้นกรามด้านซ้าย ร้าวไปถึงท้องแขนด้านซ้ายหรือร้าวลงมาบริเวณท้อง ร่วมกับอาการเหงื่อแตกใจสั่นร่วมด้วย
  3. มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
  4. มีอาการใจสั่น ใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน
  5. มีอาการเหนื่อย ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งต้องระวังอาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว
  6. อาการขาบวม บริเวณหน้าแข้งหรือบริเวณปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง หากใช้นิ้วมือกดลงไปจะพบว่าเนื้อบุ๋มลงไปและเมื่อยกนิ้วขึ้นมาเนื้อก็ยังไม่คืนตัวร่วมกับมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ มีอาการแน่นท้องมากขึ้น ถ้ามีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน

อาการที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจ โดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่โรคหัวใจก็ได้ เช่น อาการเหงื่อออกปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งหากไม่พบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยมักไม่ใช่โรคหัวใจ อาจเป็นภาวะปกติที่เกิดในคนทั่วไปได้ อาการเจ็บแปล๊บหน้าอกขึ้นมา คนไข้อาจจะรู้สึกว่ามีอาการกดเจ็บบริเวณหน้าอก หรือเมื่อหายใจเข้าลึกๆแล้วเจ็บหน้าอก อาการเช่นนี้ไม่ใช่อาการของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจจะเป็นอาการของกล้ามเนื้อทรวงอก หรือกล้ามเนื้อซี่โครงผิดปกติ หรืออาจจะเป็นอาการของเยื่อหุ้มปอดผิดปกติ ซึ่งต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้วินิจฉัยผลได้เที่ยงตรง

สำหรับการรักษาโรคหัวใจที่ดีที่สุดคือ การป้องกันก่อนการเกิดโรค โดยการออกกำลังกาย (อ.ออกกำลังกาย) ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ (อ.อ้วน) การควบคุมอาหาร ไม่ทานรสจัดหรือมันจนเกินไป (อ.อาหาร) ทำอารมณ์ให้แจ่มใส (อ.อารมณ์) อยู่ในสภาวะแวดล้อมอากาศที่ดี (อ.อากาศ) ร่วมกับหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราห่างไกลโรคหัวใจได้

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
ศูนย์โรคหัวใจ อาคาร สก ชั้น 17
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4917 , 02 256 4000