โรคกระดูกพรุน


โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูกซึ่งมีผลให้กระดูกบางและเปราะ ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย

ภาวะที่เนื้อกระดูกลดลงประมาณร้อยละ 30 เป็นภาวะที่เรียกว่า “โรคกระดูกพรุน” โรคกระดูกพรุนมักพบในวัยผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนร้อยละ 30 มีภาวะโรคกระดูกพรุน พบโรคกระดูกพรุนร้อยละ 45 ในผู้หญิงอายุมากกว่า 60 ปี และร้อยละ 35 ของผู้ชายจะเป็นโรคนี้เมื่อายุ 75 ปี

กระดูกประกอบด้วยโปรตีนที่เป็นเส้นใยคอลลาเจนและมีแคลเซียมมาตกผลึกจับตัวกับคอลลาเจนกลายเป็นของแข็งที่สามารถรับน้ำหนัก รับแรงกดกระแทก และมีความยืดหยุ่นในตัวเอง

การสร้างกระดูกที่ดีจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมและสารอาหารที่เหมาะสม โดยแคลเซียมทำให้กระดูกแข็ง ส่วนโปรตีนในกระดูกโดยเฉพาะคอลลาเจนและโปรตีนอื่น ๆ จะให้ประดูกมีความเหนียวและยืดหยุ่น

ในแต่ละวัยร่างกายสามารถสะสมปริมาณแคลเซียมในมวลกระดูกในระดับที่แตกต่างกัน และมวลกระดูกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงอายุ 25-30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อย ๆ ลดลงประมาณร้อยละ 0.5-1 ต่อปี ในช่วงหมดประจำเดือนมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจลดลงเร็วถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพศหญิงจึงมักมีโอกาสเกิดกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การได้รับสารอาหารโดยเฉพาะแคลเซียมไม่เพียงพอ กรรมพันธุ์ การหมดประจำเดือน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกายและการเป็นโรคเรื้อรัง

อาการ

เป็นภาวะที่เนื้อกระดูกบางลง ทำให้ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักมีอาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง อาจมีอาการปวดบริเวณที่กระดูกยุบตัวลง กระดูกเปราะและหักง่าย จึงต้องระวังการหกล้มในผู้สูงอายุ

ตำแหน่งที่มักจะเกิดภาวะกระดูกพรุนและหักง่าย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก นอกจากนี้ยังพบว่ากระดูกสันหลังของผู้หญิงอายุ 55-75 ปี จะเกิดการหักยุบมากกว่าในผู้ชาย ทำให้ผู้สูงอายุเตี้ยลงกว่าตอนหนุ่มสาว

จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้สูงอายุไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี จะมีอัตราการเกิดกระดูกสันหลังยุบตัวลงถึงร้อยละ 30 และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหัก อาจทำให้เดินไม่ได้ หรือเสียชีวิตได้

แคลเซียม คืออะไร

แคลเซียมเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกาย ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในกระดูกและฟัน ในร่างกายคนหนัก 50 กิโลกรัม จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 1 กิโลกรัม แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายเกือบทุกส่วน และที่สำคัญแคลเซียมมีหน้าที่สร้างกระดูก ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย

การเลือกรับประทานแคลเซียมให้ได้ผล

  1. ละลายง่าย แคลเซียมที่ละลายน้ำได้ดี ได้แก่ แคลเซียมแลตเตทกลูโคเนต การรับประทานแคลเซียมในรูปผงชงดื่มจะละลายได้ดีกว่าแคลเซียมชนิดเม็ด
  2. มีปริมาณแคลเซียมระหว่าง 600-800 มิลลิกรัม
  3. ควรทานแคลเซียมพร้อมมื้ออาหารเย็น เพราะช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงที่แคลเซียมไหลออกจากกระดูกมากที่สุด ปริมาณแคลเซียมที่สูงขึ้นจะป้องกันการไหลออกจากกระดูก ป้องกันไม่ให้กระดูกบางได้

การเลือกรับประทานแคลเซียมให้ได้ประโยชน์สูงสุด

  1. เลือกสูตรที่มีส่วนผสมของแคลเซียมแลตเตทและกลูโคเนต เพื่อให้ละลายน้ำได้ดี
  2. เลือกสูตรที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน

กรณีที่มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนต ควรรับประทานแคลเซียมหลังจากรับประทานอาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารจะมีสภาพเป็นกรด ช่วยทำให้แคลเซียมคาร์บอเนต แตกตัวและละลายน้ำได้ดียิ่งขึ้น

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ ตึกคัคณางค์ ชั้น 8
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทร 02 256 4230, 02 256 4510

Nová online kasina s bonusem bez vkladu, doporučená Betzoidem