Chula GenePRO: ถอดรหัสพันธุกรรมเซลล์มะเร็งเพื่อการรักษาที่ตรงจุด

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

เพราะ “มะเร็ง” คือโรคร้ายแรงที่บั่นทอนสิ่งต่างๆ รอบด้านของชีวิต เทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันจึงเป็นที่คาดหวังว่า ไม่เพียงรักษาให้หายจากโรคร้ายเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอีกด้วย วันนี้จะขอนำทุกท่านมาพูดคุยกับ .นพ.ชนพ ช่วงโชติ ผู้อำนวยการศูนย์จุฬายีนโปร เพื่อรู้จักกับการตรวจยีนมะเร็งอีกมิติที่นำไปสู่การรักษาแบบแม่นยำ

ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ กล่าวถึงศูนย์จุฬายีนโปร ว่าได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาการโรคมะเร็ง ทำให้ทราบว่ามะเร็งแต่ละชนิดยังสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีกตามความผิดปกติของยีนชนิดต่างๆ และนำไปสู่วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ยาต้านมะเร็งหลายชนิดได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อการรักษาแบบมุ่งเป้า คือมุ่งทำลายเซลล์มะเร็งที่มีลักษณะการกลายพันธุ์จำเพาะ เป็นการลดผลแทรกซ้อนที่จะเกิดกับเซลล์ปกติทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การตรวจการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งจึงเป็นภารกิจหลักของศูนย์ฯ เพื่อแพทย์จะได้นำข้อมูลไปพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับขั้นตอนการตรวจนั้น ศ.นพ.ชนพ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ จะนำเนื้อเยื่อมะเร็งของผู้ป่วยที่ได้จากการผ่าตัดมาสกัดสารพันธุกรรม และตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของยีนด้วยเทคนิคทางอณูพันธุศาสตร์หลายรูปแบบ ตัวอย่างของยีนที่ให้บริการตรวจได้แก่ ยีน EGFR ในมะเร็งปอดยีน RAS ในมะเร็งลำไส้ ยีน BRCA ในมะเร็งเต้านม และยีน MGMT ในมะเร็งสมอง นอกจากนี้ในคนไข้มะเร็งปอดที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาเนื้อมะเร็งออกมาได้ ทางศูนย์ฯ ก็ยังมีบริการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ในดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งที่หลุดเข้าไปในกระแสโลหิต โดยการเจาะตรวจจากเลือด ซึ่งการตรวจยีนในกระแสเลือดนี้ ยังสามารถใช้ในการติดตามการรักษาผู้ป่วย และตรวจหาการกลายพันธุ์รูปแบบใหม่ที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา

ค่าใช้จ่ายของการตรวจยีนมะเร็งขึ้นอยู่กับจำนวนยีนและตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ต้องการตรวจ ยีนขนาดเล็กจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 3,000-20,000 บาท และราคา 20,000-100,000 บาทสำหรับยีนขนาดใหญ่หรือการตรวจหลายยีนพร้อมๆ กัน สิ่งสำคัญที่ประชาชนทั่วไปควรทราบ คือการเจาะเลือดตรวจยีนนั้นไม่เหมาะที่จะทำในการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะโอกาสที่จะพบความผิดปกติมีน้อยมากๆ อย่าหลงเชื่อห้องปฎิบัติการหรือสถาบันบางแห่งที่อาจทำการโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริง สำหรับผู้ที่มีประวัติมะเร็งในเครือญาติและสงสัยว่าอาจจะมียีนมะเร็งถ่ายทอดในครอบครัว ขอให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งหรือพันธุศาสตร์ก่อนที่จะทำการตรวจยีน

ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจที่ศูนย์ฯ มีปริมาณมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปีล่าสุดมีมากกว่า 2,000 ราย ทั้งจาก รพ.จุฬาลงกรณ์เอง รพ.รัฐบาลอื่นๆ และ รพ.เอกชน ทั้งนี้ ศ.นพ.ชนพ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ศูนย์จุฬายีนเป็นที่รู้จัก คือการยกเอางานบริการประชาชนมาเป็นภารกิจหลักบุคลากรทุกคนเห็นความสำคัญของงานที่ทำ มีความตั้งใจในการทำงานเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการตรวจทันท่วงที ผลจากการทำงานบริการ ทำให้ศูนย์ฯ ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งนอกจากจะใช้ในการตรวจให้ผู้ป่วยแล้วยังนำมาใช้สนับสนุนงานวิจัยแก่คณาจารย์ในคณะแพทย์และรพ.จุฬาลงกรณ์ อีกด้วย

ศ.นพ.ชนพ กล่าวว่า ศูนย์จุฬายีนโปรยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยในอดีตเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนางานบริการในปัจจุบัน แม้ว่าทุกคนจะเห็นว่าการวิจัยเพื่ออนาคตนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่งานบริการก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เพราะเรามีคนไข้ในปัจจุบันจำนวนมากที่ต้องการการดูแล และสำหรับผู้ป่วยแล้ว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้รับการรักษาที่มีคุณภาพเท่าที่มีในปัจจุบัน มีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างทางของการรักษา