FACELIFT ดึงหน้า บอกลาริ้วรอย โดยไม่หลงเชื่อสื่อโซเชียล


ในยุคปัจจุบันที่การทําศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า เพื่อความงามเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ผู้ที่กังวลใจใน ปัญหาเรื่องความหย่อนคล้อยและริ้วรอยแห่งวัยต่างก็มี ทางเลือกในการเข้ารับบริการจากสถานเสริมความงาม และสถานบริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย ง่ายดาย และสะดวกมากขึ้น คอลัมน์บอกเล่าก้าวทันหมอฉบับนี้ จึงมีเรื่องราวของการทํา Facelift และข้อพึงระวังที่จะมาเล่าสู่กันฟังโดยศัลยแพทย์ตกแต่งผู้เชี่ยวชาญแห่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ศัลยแพทย์ตกแต่งประจําโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คําว่า Faceift นั้นหากแปลให้ถูกต้อง คือ “ยกหน้า” แต่คนไทยเรียกว่า “ดึงหน้า” จนกลายเป็นคําเรียกติดปากและใช้กันจนเป็นทางการไปแล้ว ทั้งนี้ ศัลยกรรมดึงหน้ามีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไข อาการหย่อนยานของใบหน้าและลําคอ ทําให้ดูอ่อนเยาว์ขึ้น

ในการทํา Facelift นั้น เราพิจารณาใบหน้าได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนบน คือการยกคิ้วและหน้าผาก
2. ส่วนกลาง คือการแก้ไขการหย่อนตัวของแก้ม ร่องน้ําตา และร่องแก้ม
และ 3. ส่วนล่าง คือการแก้ไขความหย่อนคล้อยบริเวณมุมปาก แก้มส่วนล่าง และใต้คาง หรือที่เราเรียกกันว่า เหนียง นั่นเอง
ซึ่งการทํา Facelift สามารถแก้ไขได้ทั้ง 3 ส่วน หรือเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาก็ได้ ทั้งนี้ริ้วรอยและความหย่อนคล้อยที่เป็นปัญหาและสร้างความกังวลใจนั้น อาจเกิดจากการขยับของใบหน้าตามการแสดงออกทางอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น การหย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วงของโลก โดยผู้เข้ารับบริการ Facelift มักจะมีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ซึ่งคนวัยนี้จะเริ่มเกิดปัญหา ที่บริเวณใบหน้าส่วนบน นั่นคือริ้วรอยบนหน้าผากและรอบดวงตา เป็นอันดับแรก

ความก้าวหน้าของ Facelift ในปัจจุบัน คือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และปีต่อมา รศ.นพ.นนท์ ก็ได้นําเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้วยการทํา Endoscopic Brow Lift หรือการศัลยกรรมยกคิ้วด้วยการส่องกล้อง เพื่อแก้ปัญหาคิ้วตกซึ่งทําให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าหนังตาตก ปัจจุบันได้พัฒนามาสู่การใช้กล้องส่องสําหรับหน้าส่วนอื่นด้วย รศ.นพ.นนท์ กล่าวว่า สังคมยุคใหม่มีการใช้สื่อออนไลน์เพื่อส่งเสริมการตลาดของธุรกิจ สถานพยาบาลและสถานเสริมความงาม หลายคนตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมดึงหน้า แต่ทราบกันหรือไม่ว่าผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง คือศัลยแพทย์ตกแต่ง มีอยู่เพียง 300 กว่าคนเท่านั้นในประเทศไทย อีกทั้งคําโฆษณา รีวิว หรือกระทู้ต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึงการผ่าตัดแผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว แท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นความจริง เทคนิคที่ใช้จะต้องพิจารณาจากปัญหาริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของแต่ละบุคคล ซึ่งมีมากน้อยแตกต่างกันไป แผลที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดก็แปรผันตามปัญหาที่ศัลยแพทย์ต้องแก้ไข รวมถึงสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดเครื่องมือช่วยชีวิตและมีการระงับความเจ็บปวดด้วยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ ซึ่งอาจทําให้ผู้เข้ารับบริการมีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อถามถึงอุปสรรคของศัลยแพทย์ตกแต่งในการทํา Facelift ของสังคมไทยปัจจุบัน รศ.นพ.นนท์ กล่าวว่า

“ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างแท้จริงของประชาชนเกี่ยวกับการทํา Facelift และศัลยกรรมอื่นๆ ยังคงเป็นสิ่งที่ น่ากังวลใจ เพราะหลายคนไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของตนเอง ประกอบกับความคาดหวังที่ค่อนข้างสูงในผลของการทํา Facelift ที่จะต้องสวยงามเหมือนบุคคลต้นแบบหรือรีวิวที่พบเจอ ในสื่อสังคมออนไลน์และมีผู้ที่เห็นแก่ตัวไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงจํานวนมากมาย พร้ออมที่จะหลอกลวงให้บริการเพื่อประโยชน์ส่วนตน”

ดังนั้นการตัดสินใจทําศัลยกรรมใดๆ จึงควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือ หาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น การมีผู้เชี่ยวชาญทั้งศัลยแพทย์ตกแต่ง และวิสัญญีแพทย์ในสถานพยาบาลนั้นๆ การประเมินความคาดหวังของตนเอง รวมถึงการไตร่ตรองถึงผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านภายหลังการทําศัลยกรรมด้วย


ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากฐานข้อมูลแพทยสภา : http://www.tmc.or.th/check_md/
ตรวจสอบรายชื่อศัลยแพทย์ตกแต่ง : http://www.plasticsurgery.or.th/st.php