ศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Soft Cadaver Surgical Training Center)

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

เพราะการฝึกฝนความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วย คือหนึ่งในภารกิจของแพทย์และนักเรียนแพทย์ทุกคน ดังนั้นบทบาทของ “อาจารย์ใหญ่” หรือผู้อุทิศร่างกายหลังสิ้นลมหายใจ เพื่อการเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์ และการฝึกผ่าตัดเฉพาะทางจึงเป็นภารกิจหลักในการดำเนินงานศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้

ศูนย์ฝึกผ่าตัด นับเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ฝึกผ่าตัดเพื่อให้นักเรียนแพทย์และแพทย์เฉพาะทางได้ฝึกอบรมการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทบทวนความรู้ทางกายวิภาคตามมาตรฐานแพทยสภาและพัฒนาการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ฝึกผ่าตัด ณ อาคารแพทยพัฒน์ (ชั้น 4) เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งนับเป็นการเปิดศูนย์ฝึกผ่าตัดอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2539 รวมระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว

.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งที่มีทำให้ศูนย์ฝึกผ่าตัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ นั่นคือศักยภาพที่โดดเด่นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

  1. จำนวนการจัด workshop ที่มากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับศูนย์ฝึกผ่าตัดอื่นๆ โดยมีมากถึง 150 ครั้งต่อปี
  2. เป็นศูนย์เดียวในโลก ที่มีความหลากหลายของศาสตร์ในการฝึกอบรมและปฏิบัติการผ่าตัดทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ามากที่สุด ในขณะที่ศูนย์ฝึกผ่าตัดอื่นๆ จะทำงานเฉพาะเจาะจงกับบางศาสตร์เท่านั้น
  3. เป็นศูนย์เดียวในโลก ที่ให้นิสิต คณะแพทยศาสตร์ได้ฝึกหัตถการกับอาจารย์ใหญ่ร่างนุ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 5 และเข้าฝึกอบรม วนกัน 6 ครั้งต่อปี ใน 3 แผนกได้แก่ แผนกวิสัญญีวิทยา, แผนกฉุกเฉิน และแผนกออร์โธปิดิกส์ ทำให้นิสิตแพทย์ได้ฝึกฝนและใกล้ชิดกับอุปกรณ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับศูนย์ฝึกผ่าตัดอื่นๆ

สำหรับสิ่งที่เป็นหัวใจและเป็นเอกลักษณ์ของการดำเนินงานศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นคือการเรียนการสอนด้วย “อาจารย์ใหญ่ร่างนุ่ม” (Soft Cadaver) ที่ช่วยให้นิสิตแพทย์และแพทย์เฉพาะทางสามารถแยกกล้ามเนื้อ หาเส้นประสาทได้ง่าย ข้อต่อไม่ยึดและงอได้นั่นเอง นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังคิดค้นวิธีเก็บรักษาร่างนุ่มไว้ได้นานถึง 2 ปี อีกทั้งให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารและดูแลจิตใจของญาติอาจารย์ใหญ่ผู้อุทิศร่างกาย ตั้งแต่รับร่างเข้ามาที่ศูนย์ฯ จนกระทั่งพิธีลอยอังคาร ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายหลังจบการเรียนการสอนด้วย

ศ.นพ.ธันวา กล่าวว่า การดำเนินงานที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดทีมงานคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฝึกผ่าตัดมีเจ้าหน้าที่กว่า 20 คน โดยแบ่งเป็น เจ้าหน้าที่เทคนิค ที่คอยดูแลร่างของอาจารย์ใหญ่ และเจ้าหน้าที่ธุรการ ทั้งนี้การปลูกฝังให้มีใจรักในงานที่ทำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกผ่าตัดแห่งนี้ มีความทุ่มเทและรับผิดชอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยใจที่มีความสุขและผูกพันอยู่กับศูนย์ฯ เป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมและการสื่อสารกับทีมงานให้มีทัศนคติที่ดีจึงต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาผลงานด้วย

ไม่เพียงแต่การจัดการเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์โดยร่างอาจารย์ใหญ่เท่านั้น เพราะศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังดำเนินการเพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ด้านการแพทย์ อาทิ การฝึกเก็บดวงตา สำหรับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย, โครงการธนาคารเนื้อเยื่อ สำหรับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ฯลฯ

แต่ทั้งนี้การพัฒนาในอนาคตของศูนย์ฝึกผ่าตัด ก็ยังคงเน้นการต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของงานด้านการศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Identity หรือเป็นเอกลักษณ์ของศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีคุณภาพระดับโลก

Nová online kasina s bonusem bez vkladu, doporučená Betzoidem