วิทยาการการล้างไตทางช่องท้องผ่านสื่อภาพยนตร์แอนนิเมชั่น รู้ทันโรคไตกับคิดดี

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

ภาพยนตร์แอนนิเมชั่น “รู้ทันโรคไตกับคิดดี” เป็นการให้ความรู้ผู้ป่วยผ่านสื่อออนไลน์ โดยผสานระหว่างงานศิลปะวัฒนธรรมของไทย คติธรรม และวิทยาการการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงออกมาเป็นผลงานอันทรงคุณค่า ที่ทีมงานทุกคนตั้งใจทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชมมายุ 60 พรรษา

สำหรับที่มาของการจัดทำ ภาพยนตร์แอนนิเมชั่น “รู้ทันโรคไตกับคิดดี” นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มงานการล้างไตทางช่องท้อง หน่วยโรคไต รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ผลิต “คู่มือแนะนำการล้างไตทางช่องท้อง”เพื่อ เฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชมมายุ 55 พรรษา แต่พบอุปสรรคกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านสายตาและปัญหาด้านการอ่าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจการล้างไตทางช่องท้องได้ง่ายขึ้น กลุ่มงานฯ จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำภาพยนตร์แอนนิเมชั่น “รู้ทันโรคไตกับคิดดี” ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคไต วิธีการสังเกตอาการและความผิดปกติของไต ภาวะโรคไตเรื้อรังและวิธีการบำบัดทดแทนไต การล้างไตทางช่องท้อง รวมถึงอาหารและโภชนาการสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เพื่อประโยชน์กับผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยทั่วไปจัดทำขึ้นเป็นภาพยนตร์ภาษากลาง ภาษาถิ่น และภาษาอังกฤษ ในการนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงประทานพระเมตตา รับเป็นองค์ประธานและพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์เพื่อใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของภาพยนตร์ชุดนี้

.นพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ หัวหน้ากลุ่มงานฯ หนึ่งในคณะผู้จัดทำภาพยนตร์แอนนิเมชั่น “รู้ทันโรคไตกับคิดดี” กล่าวว่า การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis: PD) เป็นการทำความสะอาดเลือดและขจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย ผ่านทางเยื่อบุผนังช่องท้องของผู้ป่วย โดยการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปทิ้งค้างในช่องท้อง เป็นเวลาประมาณ 4 – 6 ชั่วโมงจึงถ่ายน้ำยาออกจากช่องท้อง ได้เป็นของเสียที่มีสีคล้ายปัสสาวะออกมา แล้วจึงใส่น้ำยาล้างไตใหม่เข้าไปแทนที่ การล้างไตทางช่องท้องสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การล้างไตด้วยตนเอง และการล้างไตโดยใช้เครื่องอัตโนมัติ หากเป็นการล้างไตด้วยตนเอง ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาในเวลาที่แน่นอน วันละ 4 ครั้ง และต้องทำ 3 ขั้นตอน คือ ถ่ายน้ำยาเก่าออกจากช่องท้อง เติมน้ำยาใหม่เข้าไป และพักท้องให้น้ำยาฟอกของเสีย แต่ข้อดีคือผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผู้ป่วยและญาติสามารถปรับตารางการล้างไตให้เหมาะกับวิถีชีวิตได้เป็นอิสระมากขึ้น ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง และยังสามารถทำได้ในขณะที่นอนหลับด้วย สำหรับการล้างไตโดยใช้เครื่องอัตโนมัตินั้น เครื่องจะทำงานเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทั้ง 3 ขั้นตอนให้ทั้งหมด

ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานของกลุ่มงานฯ ว่า เป็นทีมสหสาขา ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการนักสังคมสงเคราะห์ และนักวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงรุกด้วยมาตรฐานสากล เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางทำให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตได้อย่างคลอบคลุมรอบด้าน ไม่เพียงแค่การรักษาแบบมืออาชีพ แต่ยังผนวกเทคโนโลยีขั้นสูงและล้ำสมัย ในการจัดการและแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยและญาติลดภาวะแทรกซ้อนต่อเนื่อง อาทิ การนำเทคโนโลยีอนูชีววิทยา แบบ Loop-mediated isothermalamplification (LAM) และ next-generation PCR และด้วยวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา ได้แก่ การวิเคราะห์ beta-glucan, galactomannan และ endotoxin มาใช้ในการวิเคราะห์เชื้อก่อโรคในระยะแรก รวมถึงการวิเคราะห์หา biofilm ด้วยเทคโนโลยี Light-sheet microscope และscanning electron microscopy

ปัจจุบันจะพบว่าสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งได้นำเอาเทคโนโลยีการล้างไตทางช่องท้องมาใช้ในผู้ป่วยอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อพูดถึงความโดดเด่นของการล้างไตทางช่องท้องที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ อธิบายว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่นำน้ำยาล้างไตชนิดใหม่ (icodextrin และ amino acid solutions) มาใช้กับผู้ป่วยมากว่าทศวรรษ ช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อบุผนังช่องท้องของผู้ป่วยเสื่อมสภาพจากการล้างไตต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่ด้วยราคาที่แพงกว่าน้ำยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเกือบ 8 เท่า ดังนั้นทีมงานของศูนย์ความเป็นเลิศฯ จึงได้ค้นคว้าวิจัยและผลิตน้ำยาล้างไตขึ้นเองเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในชื่อ “น้ำยาแคลวิทิน” รวมทั้งคิดค้นพัฒนา นมโปรตีนชนิดพิเศษ ช่วยชดเชยโปรตีนที่สูญเสียจากการล้างไต ซึ่งเป็นสูตรที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากกว่าการใช้โปรตีนทั่วไป นั่นคือมีฟอสเฟตและโพแทสเซียมต่ำ แต่มีกากใยอาหารสูง มีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างและเพิ่มสมรรถนะกล้ามเนื้อของผู้ป่วย นอกจากนี้ศูนย์ฯ ของเรายังเป็นแหล่งฝึกอบรมให้กับแพทย์ พยาบาลล้างไตทางช่องท้องทั่วประเทศและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทั้งยังได้รับการคัดเลือกจากสมาพันธ์ล้างไตทางช่องท้องโลกให้เป็นตัวแทนศูนย์การล้างไตทางช่องท้องของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการศึกษาวิจัยแบบ multi-centered cohort ถึงปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี ในนามของ “PDOPPS” นับเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียอาร์เนย์และเอเชียใต้ที่ได้รับเกียรติอันนี้

“เราเชื่อมั่นว่าวิทยาการรักษาผู้ป่วยโรคไตของกลุ่มงานการล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ระดับมาตรฐานสากล จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับความปลอดภัยในการรักษา เป้าหมายที่สำคัญต่อจากนี้ คือการดูแลผู้ป่วยให้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตอยู่กับคนในครอบครัวต่อไปได้ยาวนานที่สุด” ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กล่าว

ไม่เพียงการรักษาเชิงรุกแบบองค์รวมด้วยทีมสหสาขา แบบมืออาชีพ แต่เรายังนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงและล้ำสมัยมาช่วยให้การล้างไตทางช่องท้องมีความปลอดภัยสูงสุดกับผู้ป่วย