เปิดโครงการ CHULA CARE เทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศการบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมมือกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เปิดโครงการ CHULA CARE พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนงานบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยยกระดับการให้บริการผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรของโรงพยาบาล หวังสร้างคุณภาพการบริการให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค โดยมี ศ.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมแถลงข่าว และ ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาธิตการบริการผู้ป่วย ผ่านระบบ Tele Clinic เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561  ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

ศ.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน และรับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเน้นการให้บริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพที่เป็นเลิศ มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และการพยาบาล เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Center) สนับสนุนส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย จัดทำนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมด้วยบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากลอย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมไปถึงสถานพยาบาล ก็มีความต้องการมากขึ้น ทั้งจากผู้ใช้บริการภายในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแต่ละปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ในปี 2560 เป็นผู้ป่วยนอกจำนวนกว่า 1.6 ล้านราย หรือกว่า 5,000 รายต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการพัฒนากระบวนการให้บริการต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร จึงคิดว่าควรนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้มากขึ้น

ล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย และเมืองไทยประกันชีวิต ริเริ่มโครงการ CHULA CARE โดยนำเทคโนโลยีที่ทั้งสององค์กรมีความรู้และมีประสบการณ์เข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการระบบการบริหารจัดการผู้ป่วย พัฒนาแผนที่และการนำทาง ส่งเสริมข้อมูลด้านสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการรักษาทางไกล โดยการรักษาทางไกลนี้จะเริ่มให้บริการผู้ป่วยคลินิกระบบประสาท (Tele Neurology Clinic) ก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในระบบประสาท และไม่สะดวกเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำผู้ป่วยเดินทางมา