การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ร์รักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคผิวหนังแข็งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีการรักษาให้หายขาดนั้นเองก็เป็นไปได้ยาก อีกทั้งหากรอยโรคลุกลามไปถึงปอดและอวัยวะภายในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขา ได้แก่ หน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติ หน่วยโรคติดเชื้อ และหน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ริเริ่มและคิดค้นนวัตกรรมการรักษา โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่สุดของความทันสมัยมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด ได้ส􀄞ำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีการจัดแถลงข่าวประกาศความภาคภูมิใจ “การรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ส􀄞ำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่ประเทศตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังคงดำเนินการรักษา
พยาบาลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ควบคู่ไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยพันธกิจหลักที่สำคัญก็คือการผลิตองค์ความรู้เพื่อเป็นต้นแบบและนำเอาวิทยาการต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยการใช้สเต็มเซลล์มาอย่างมากมาย อาทิ สเต็มเซลล์ รักษาโรคกระจกตาและการรักษาโรคทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมีย เป็นต้น

สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาและต่อยอดองค์ความรู้ คืนคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วย
ศ.พญ.มนาธิป โอศิริ หัวหน้าหน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม กล่าวว่า โรคผิวหนังแข็ง (Systemic Sclerosis) เป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติทำให้เกิดอาการขึ้นในอวัยวะหลายส่วนของร่างกาย พบในผู้ป่วยประมาณอายุ 40 – 50 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายมากถึง 3 เท่า

อาการและความรุนแรงของโรคผิวหนังแข็ง
กลไกการเกิดโรค เริ่มจากการเสียสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายจากหลายปัจจัย โดยมีลักษณะเด่น ดังนี้

  • การเกิดพังผืดที่ผิวหนังและอวัยวะภายในทำให้ผิวหนังแข็ง ปอด เป็นพังผืด กล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตและหัวใจวายได้ในที่สุด
  • ระบบกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหารจะเกิดพังผืดทำให้เกิดการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ลดลงหรือไม่บีบตัว
  • อาการจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ปลายนิ้วตอบสนองไวต่อความเย็น มีหลอดเลือดหดตัวมากขึ้น ปลายนิ้วซีดขาว ถ้ามีอาการหนักนิ้วจะกลายเป็นสีม่วง หากขาดเลือดรุนแรงจะส่งผลให้ปลายนิ้วเป็นแผลเรื้อรังหรือกุดสั้นลงจนใช้งานไม่ได้
  • อาการที่ไตทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้
  • อาการหลอดเลือดแดงที่ปอดตีบตัน ทำให้แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงมีผลต่อการบีบตัวของหัวใจทำให้หัวใจวายได้

แนวทางการรักษา

  • ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง : ใช้ยาปรับภูมิหรือกดภูมิ ร่วมกับยาขยายหลอดเลือดและยาต้านการเกิดพังผืด
  • ผู้ป่วยอาการรุนแรงแต่ยังไม่เกิดการทำลายของอวัยวะภายในอย่างถาวร : รักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของ
  • ระบบเม็ดเลือด โดยเข้าไปจัดระเบียบระบบภูมิคุ้มกันใหม่ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำงานเป็นปกติ

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยา กล่าวว่า การจัดระบบภูมิคุ้มกันใหม่โดยใช้สเต็มเซลล์เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการใช้ยากดภูมิต้านทานในขนาดทีสูงร่วมกับแอนติบอดี้ เพื่อไปกำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ก่อนการให้สเต็มเซลล์ของระบบเลือด โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกผู้ป่วย การทำงานของอวัยวะของผู้ป่วยโรคนี้อาจจะถูกทำลายไปบางส่วน ดังนั้นผู้ป่วยที่จะเข้า
รับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์สหวิชาชีพเบื้องต้นก่อน

ขั้นตอนที่ 2 เก็บสเต็มเซลล์ ก่อนเข้ารับการรักษาประมาณ 1 – 2 เดือน โดยการให้ยากระตุ้นเม็ดเลือด (Growth
Factor) เพื่อไปทำการเคลื่อนย้ายสเต็มเซลล์ในไขกระดูกให้ออกมาอยู่ในเลือดเพิ่มขึ้นและทำการเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดโดย
การใช้เครื่องปั่นแยกเซลล์และแช่แข็งไว้

ขั้นตอนที่ 3 กำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิต้านทานขนาดสูงร่วมกับแอนติบอดี เพื่อไปกำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในร่างกาย จากนั้นแพทย์จะนำสเต็มเซลล์ที่แช่แข็งไว้ก่อนหน้านี้มาฉีดให้ผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่ำมากและจำเป็นต้องรักษาตัวในห้องปลอดเชื้อภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และสหวิชาชีพอย่างใกล้ชิด

ขั้นตอนที่ 4 สเต็มเซลล์เริ่มสร้างเซลล์ใหม่ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ จนกระทั่งเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ กลับมาทำงานตามปกติ ภูมิคุ้มกันใหม่ของผู้ป่วยจึงจะกลับมาทำงานเป็นปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ การอักเสบลดลงสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ หัวหน้าหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติฯ กล่าวว่าผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและมีภาวะปอดเป็นพังผืดได้ อาจมีการลุกลามทำให้ปอดเสียสภาพไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ โดยเฉพาะใน 5 ปีแรกหลังจากเกิดอาการทางผิวหนัง มีความจุปอดที่ลดลง ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาเดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ปอดส่วนที่เป็นพังผืดไปแล้วมักไม่กลับคืนเป็นปกติ ดังนั้นผู้ป่วยโรคหนังแข็งทุกรายแม้มีอาการเล็กน้อยควรได้รับการประเมินและวินิจฉัยภาวะนี้ตั้งแต่ระยะต้น เพื่อเริ่มให้การรักษา ยิ่งรักษาช้าก็จะเสียเนื้อปอดไปมาก นอกจากนั้นระหว่างที่โรคดำเนินไป ยังอาจพบการกำเริบของพังผืดแบบเฉียบพลันหรือการติดเชื้อในปอดซ้ำเติมได้ด้วย ทำให้มี
อาการเหนื่อยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

แนวทางวินิจฉัยปอดเป็นพังผืด

  • ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยในขณะออกแรง อาการไอเรื้อรัง
  • การทำเอ็กซเรย์ปอด และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด
  • การส่องกล้องตรวจหลอดลม ในรายที่สงสัยการติดเชื้อในปอด
  • การวัดปริมาตรความจุปอด
  • ทดสอบความสามารถในการเดิน 6 นาที ว่าสามารถเดินได้ไกลเท่าไร และประเมินระดับออกซิเจนว่ามีการลดลงหรือไม่
  • หลังจากวินิจฉยั ภาวะนี้แล้ว จะมีการประเมินอย่างต่อเนื่องโดยการวัดความจุปอดและทดสอบการเดินใน 6 นาที ทุก 6 เดือน สำหรับการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นพิจารณาทำทุก 1 ปี หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก่อนจะพิจารณาตรวจเร็วขึ้น

อ.นพ.จักกพัฒน์ วนิชานันท์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวว่าการติดเชื้อในผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เนื่องจากกระบวนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แพทย์จะให้ยากดภูมิต้านทานซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ ในต่างประเทศพบการติดเชื้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นถึงร้อยละ 75 และมีอัตราการเสียชีวิตจากการติด
เชื้อร้อยละ 10 – 17

วิธีป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อ

  • แพทย์ทำการตรวจเช็คประวัติการรักษา ตรวจร่างกายเพื่อประเมินระบบภูมิคุ้มกันว่าผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือไม่
  • ตรวจอุจจาระเพื่อหาการติดเชื้อแฝง หากคนไข้มีหลักฐานว่าเคยติดเชื้อมาก่อนในอดีตต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
  • หากเริ่มมีการติดเชื้อต้องให้ยาต้านจุลชีพอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
  • ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ยาป้องกันการติดเชื้อเพราะผลของยากดภูมิต้านทานอาจจะค้างอยู่ในร่างกายในได้ 6 เดือน

การรักษาด้วยสเต็มเซลล์เป็นวิธีรักษาแบบใหม่ ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับสูง จึงสามารถดำเนินการรักษาได้ในเฉพาะโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งและปอดเป็นพังผืดทั้ง 2 ราย ซึ่งได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยครั้งนี้ ได้ทำให้เห็นว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนเรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และวิธีการรักษาใหม่ๆ โดยยึดถือเอาประโยชน์ต่อคนไข้เป็นหลักสำคัญ