เทคนิคการใส่ท่อช่วยหายใจต่อชีวิตผู้ป่วยโควิด-19


ในสถานการณ์ที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับอัตราผู้ป่วยวิกฤติที่เพิ่มจำนวนขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้เป็นนักรบด่านหน้า
ต้องนำวิทยาการทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูงมาร่วมกันปฏิบัติภารกิจเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 และช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ให้ปลอดภัยโดยเร็ว
เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มและลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยประสบการณ์ในการรักษา ความเชี่ยวชาญระดับสูงของบุคลากร และเทคโนโลยีด้านวิสัญญีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

อ.พญ.รัตนาภรณ์ บุริมสิทธิชัย วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่ 3 เริ่มขึ้น
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายวิสัญญีวิทยาได้จัดตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการใส่ท่ อช่วยหายใจมาแล้วมากกวา่ 70 คน ทีมแพทย์วิสัญญีที่ได้รับ
การปรึกษาจากอายุรแพทย์ว่าผู้ป่วยมีอากาหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจซึ่งทัมวิสัญญีแพทย์ได้เตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมรับสถานการณ์นี้มาเป็นอย่างดีโดยการใส่ท่อช่วยหายใจควร
ทำได้อย่าง “ปลอดภัย รวดเร็วและสำเร็จในครั้งเดียว” เพื่อจุดมุ่งหมายส􀄞ำคัญ 2 ประการ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยปลอดภัย เนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำจากพยาธิสภาพของปอดทำให้เพิ่มความเสี่ยงขณะใส่ท่อช่วยหายใจ หากใช้เวลานานหรือพยายามใส่หลายครั้ง นอกจากนี้อาจพบความดันโลหิตต่ำหลังจากใส่ท่อช่วยหายใจได้ ซึ่งต้องเตรียมพร้อมให้การรักษาอย่างทันท่วงที
  1. ความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากการใส่ท่อช่วยหายใจเป็นหัตถการที่ทำให้เกิดละอองฝอยจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้สูง ดังนั้นความพร้อมและความ
    ชำนาญของทีมจึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งในทีมวิสัญญีจะประกอบไปด้วย อาจารย์วิสัญญีแพทย์ แพทย์ประจำบ้านวิสัญญีชั้นปีที่ 3 วิสัญญีพยาบาล และผู้ช่วยวิสัญญี อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกคนผ่านการฝึกฝนเรื่องการสวมอุปกรณ์
    ป้องกันตัวและซ้อมการทำงานเป็นทีมในสถานการณ์เสมือนจริงมาแล้ว เพื่อลดความผิดพลาดเวลาปฏิบัติงานจริง โดยเวลาทำงานจริงจะจำกัดจำนวนบุคลากรที่เข้าไปในห้องผู้ป่วยให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ

เทคนิคการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยโควิด-19

Rapid Sequence Induction and Intubation (RSII) เป็นเทคนิคที่วิสัญญีแพทย์ใช้เพื่อใส่ท่อช่วยหายใจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติวิสัญญีแพทย์ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการสูดสำลักลงปอด ด้วยการให้ยาสลบและยาหย่อนกล้ามเนื้อที่ออกฤทธิ์เร็วและหลีกเลี่ยงการช่วยหายใจผ่านทางหน้ากาก

อ.พญ.รัตนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากจะทำให้เกิดละอองฝอยซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อได้มาก แต่ผู้ป่วยโควิด-19 หลายรายนั้นอาจมีระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อได้รับยาสลบและหยุดหายใจซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นต้องปรับเทคนิคการช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากโดยการถือหน้ากากสองมือ ป้องกันการรั่วขณะช่วยหายใจในระหว่างที่รอให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อออกฤทธิ์เต็มที่พร้อมสำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจ

เลือกอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจและการเตรียมแผนสำรองที่เหมาะสม

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยจะนำเทคโนโลยีการใช้กล้องใส่ท่อช่วยหายใจระบบวิดีทัศน์ (VDO laryngoscope) มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสำเร็จในการใส่และเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้ป่วยกับวิสัญญีแพทย์ได้ ซึ่งท่อช่วยหายใจที่ใช้จะเลือกตามขนาดมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยหญิงและชาย อ.พญ.รัตนาภรณ์ กล่าวเสริมถึงกรณีฉุกเฉินหากใส่ท่อช่วยหายใจไม่สำเร็จ ซึ่งทีมจะประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นและวางแผนก่อนการรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นี้และยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์สำรองทุกครั้ง เช่น หน้ากากครอบกล่องเสียง เพื่อพร้อมใช้ในการช่วยหายใจผู้ป่วย

“การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม” หัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

เนื่องจากการใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงต่อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรผู้ดูแล ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้การรักษาผู้ป่วยจึงต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งการสื่อสารทำความเข้าใจแนวทางการรักษาและขั้นตอนการปฏิบัติงานก่อนสถานการณ์จริงจะช่วยให้การทำงานราบรื่นและปลอดภัย นอกจากการใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาระบบอวัยวะอื่นๆ ด้วย เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบการทำงานของตับและไต เป็นต้น ดังนั้นหลายครั้งที่วิสัญญีแพทย์เมื่อใส่ท่อช่วยหายใจสำเร็จแล้ว ยังได้ช่วยทำหน้าที่เปิดเส้นเลือดแดงสำหรับการวัดความดันโลหิตต่อเนื่องเพื่อตรวจระดับก๊าซในเส้นเลือดแดงและเปิดเส้นเลือดดำใหญ่เพื่อเป็นช่องทางการให้ยา ซึ่งเป็นหัตถการที่วิสัญญีแพทย์มีความชำนาญ

แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ทีมวิสัญญีแพทย์เข้าไปให้การรักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 อ.พญ.รัตนาภรณ์ กล่าวว่าถือเป็นโอกาสแห่งความภาคภูมิใจที่งานด้านวิสัญญีนั้นได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความเต็มใจและพร้อมเข้าช่วยเหลือด้วยสรรพกำลังทุกด้านที่มี เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติโดยเร็ว ซึ่งนอกจากงานใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ทีมวิสัญญียังได้ให้การระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนและอาจารย์วิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชบำบัดวิกฤติหลายท่านยังร่วมให้การดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤติร่วมกับอายุรแพทย์อีกด้วย

จากสถิติการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีอัตราการรักษาหายสูง เนื่องด้วยความทุ่มเทในการรักษาของทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือ ไม่เพียงแต่ต้องการคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยโดยเร็ว แต่ยังมีการนำผลการรักษาผ่านประสบการณ์ของบุคลากรทุกท่านมาถอดบทเรียน ต่อยอดและวางแผนการรักษาให้ครอบคลุมทุกมิติเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาอันนำไปสู่ผลสำเร็จที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป