บอกลาอาการปวดเข่าในผู้สูงอายุ ด้วยการ “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม”


“อาการปวดเข่า” เป็นอีกหนึ่งอาการที่บ่งบอกถึงความเสื่อมถอยของร่างกายในผู้สูงอายุ เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยิน ประโยคที่ว่า “จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย” อยู่บ่อยครั้ง อาการเช่นนี้ถือว่านั่นทอนคุณภาพชีวิต และอิสระในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุอย่างยิ่ง จึงขอนําผู้อ่านมารู้จักกับวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นแบบแผนของการผ่าตัดในประเทศไทยโดยอาจารย์แพทย์ออร์โธปิดิกส์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.นพ.อารี ตนาวลี หัวหน้าฝ่ายออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญข้อสะโพกและข้อเข่ากล่าวว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะท้ายด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า นับเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงโดยฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งแรกของประเทศและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ริเริ่มการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่เรียกว่า “ผ่าตัดแผลเล็ก” หรือชื่อเต็มคือ “วิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ที่เราได้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่าคนปกติให้กับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในประเทศไทย

อ.นพ.สีหทัธ งามอุโฆษ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ข้อสะโพกและข้อเข่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ที่ควรสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมคือ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีอาการปวดเข่า เข่าผิดรูป เช่น เข่าโก่ง เข่าเก เป็นต้น ทรงตัวไม่ค่อยดีทําให้เดินแล้วล้มง่าย โดยอาการอาจจะเป็นๆ หายๆ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผู้ที่เริ่มเป็นโรคข้อเข้าเสื่อมในช่วงอายุ 45 ปี ความเสื่อมของข้อที่เกิดขึ้นนั้นจะมีระยะเวลาในการพัฒนาไปอีก 15 ปี โดยประมาณก่อนจะเข้าสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย สําหรับปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคที่นอกเหนือไปจากอายุที่มากขึ้น ได้แก่ กรรมพันธุ์ ภาวะอ้วน การออกกําลังกายหรือการทํากิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกที่ข้ออย่างซ้ำๆ หรือมากเกินไป เป็นต้น

ศ.นพ.อารี อธิบายว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจะเป็นวิธีเด็ดขาดซึ่งใช้ในผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นๆ มาแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นจนกระทั่งแพทย์ลงความเห็นว่าสมควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัด สําหรับระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะอยู่ระหว่าง 90-120 นาที ต่อการผ่าตัดข้อเข่า 1 ข้าง โดยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะทํางานร่วมกับวิสัญญีแพทย์ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวทันทีหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดและไม่รู้สึกเจ็บ เพราะด้วยวิธีการทางวิสัญญีวิทยาแบบใหม่ อีกทั้งยังสามารถขยับขาได้เร็วขึ้นด้วย ผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน ในระหว่างที่พักฟื้นก็จะฝึกให้ผู้ป่วยเดินด้วย Walker (อุปกรณ์ช่วยเดิน) ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักขาข้างที่ผ่าตัดได้เต็มที่ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในการทรงตัวมากขึ้น และในวันที่ 3-4 หลังการผ่าตัดผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจําวันโดยที่ไม่ต้องมีผู้ดูแลคอยช่วยประคองเดิน

ภายใน 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัดแพทย์จะนัดหมายผู้ป่วยเข้ามาดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องตัดไหมแล้วเนื่องจากเป็นการเย็บแผลด้วยไหมละลาย รวมถึงทดสอบความสามารถในการเดิน การรับน้ําหนัก และการงอเข่า ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถ เดินขึ้นลงบันไดได้ภายในสัปดาห์แรก และทุกๆ สัปดาห์ก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเข่าไปแล้ว 1 ข้าง และอาจต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอีกข้างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการผ่าตัดข้อเข่าอีกข้างหนึ่งภายในเวลา 6 สัปดาห์ หลังการผ่าตัดข้างแรก ทําให้สถิติการให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าของฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 900-1,000 รายต่อปี

สําหรับข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบแผลเล็กคือ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวและเคลื่อนไหวอย่างอิสระได้เร็วขึ้น และในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีขาผิดรูปทรง เมื่อได้รับการผ่าตัดแล้วก็จะช่วยให้ขาตรงเข้ารูปได้อีกด้วย นอกจากนี้ข้อเทียมที่เลือกใช้ยังเป็นข้อเทียมรุ่นที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาถึงจุดที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และกลายเป็นวิธีการผ่าตัดที่อยู่ในระบบการเรียนการสอนของแพทย์ประจําบ้านในประเทศไทยด้วย

            ” สิ่งที่ควรระวังคือ การใช้งานข้อเข่าธรรมชาติที่ผิดประเภท เช่น พับข้อเข่าบ่อยๆ การนั่งยอง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งคุกเข่าเป็นประจํา จะเป็นปัจจัยเร่งให้กระบวนการเสื่อมของข้อเข่าเกิดเร็วขึ้น ทั้งนี้การบริหารร่างกายด้วยการ เหยียดข้อเข่าให้ตรงก็จะช่วยให้ข้อเข่ามีความกระชับ รวมถึงการควบคุมน้ําหนักตัวเพื่อไม่ให้ข้อเข่าต้องแบกรับน้ําหนักที่ มากเกินไป ก็จะช่วยให้ข้อเข่าเสื่อมช้าลงได้ “