หมอกระดูกบอกเล่า.. อาการบาดเจ็บและการรักษาที่ “นักวิ่ง” ควรรู้

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

กระแสการออกกําลังกายยอดฮิตแห่งปี 2017 คงหนีไม่พ้น “การวิ่ง” อย่างแน่นอน

หลายคนหันมาวิ่งเพื่อสร้างเป้าหมายในชีวิต แต่ละคนก็มีเป้าหมายที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งสําคัญที่นักวิ่งควรใส่ใจไม่แพ้ระยะทางที่ต้องพิชิต ก็คือการป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการรักษาทางการแพทย์ในกรณีได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ แพทย์ออร์โธปิดิกส์และประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่าการวิ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นกิจกรรมที่น่ากังวลมากนัก หากมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีน้ําหนักตัวเกินหรือโรคประจําตัวก็สามารถเริ่มวิ่งได้เลย สําหรับการบาดเจ็บจากการวิ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการไม่เตรียมพร้อมร่างกายและอุปกรณ์ เช่น รองเท้าวิ่ง รวมถึงอุบัติเหตุและการบาดเจ็บสะสมจากการหักโหม และวิ่งระยะไกล

รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวถึงอาการบาดเจ็บที่มักพบบ่อยในนักวิ่งก็คือ อาการบาดเจ็บบริเวณเข่าด้านนอก(Iliotibial Band Friction Syndrome) เกิดจากการเสียดสีของแถบเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้างกับปุ่มกระดูก ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มระยะทางและความรุนแรง ของการวิ่งอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาสั้นๆ อาการนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการนอนหงายและพับเข่าไปด้านข้าง รวมถึงการหมั่นยืด กล้ามเนื้อ และควรเผื่อเวลาในการฝึกซ้อมร่างกายก่อนลงสนามจริง โดยเฉพาะผู้ที่เคยวิ่งระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 กิโลเมตร และต้องการเพิ่มระยะทางการวิ่งขึ้นเป็น 20 กิโลเมตร (Half Marathon) ควรมีเวลาฝึกซ้อมอย่างน้อยประมาณ 12 สัปดาห์

อีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่พบได้ในนักวิ่งมาราธอนคือกระดูกหักล้า (Stress Fracture) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทําให้นักวิ่งต้องหยุดพักเป็นเวลานาน เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนล้าและไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกได้ ส่งผลให้กระดูกได้รับแรงกระแทกมากขึ้นทําให้เกิดการแตกหักเล็กๆ ภายในโครงสร้างของกระดูก กระดูกหักล้าพบบ่อยที่กระดูกเหนือข้อเท้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณเหนือข้อเท้า โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นขณะวิ่ง เมื่อหยุดวิ่งอาการก็อาจบรรเทาลง พอวิ่งอีกก็จะปวดอีกจนไม่สามารถวิ่งได้ เป็นเช่นนี้อยู่ซ้ำๆ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการสแกนกระดูก (Bone Scan) เนื่องจากการแตกหักดังกล่าวมีขนาดเล็กมาก การทําเอกซเรย์ปกติจะไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สําหรับกรณีนี้ผู้ป่วยจะหายเองได้ด้วยการหยุดพักการวิ่งเพื่อให้กระดูกรักษาตัวเอง ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่ก่อนที่จะกลับมาวิ่งอีกครั้งควรมั่นใจว่าไม่มีอาการปวดเหลืออยู่อีก มิฉะนั้นอาจทําให้กระดูกหักล้ามากขึ้นและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้

นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บปวดที่เกิดจากลักษณะอุ้งเท้าที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ นักวิ่งที่มีอุ้งเท้าสูง (High Arch Foot) มักพบอาการเอ็นร้อยหวายตึงมากกว่าปกติ ส่วนนักวิ่งที่มีลักษณะเท้าแบน (Flat Foot) อาจเกิดอาการปวดร้าวบริเวณอุ้งเท้า เนื่องจากมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าด้านในมากกว่าปกติ ดังนั้นนักวิ่งจึงต้องเลือกพื้นรองเท้าให้เหมาะสมกับลักษณะเท้าของตนเองเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บเหล่านี้ด้วย

นอกจากอาการบาดเจ็บของกระดูกและข้อ อาการทางกล้ามเนื้อ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยโดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้อสลายจากการวิ่งต่อเนื่องยาวนาน ดังเช่นกรณี “ตูน บอดี้สแลม” ในกิจกรรมวิ่งการกุศลโครงการ ก้าวคนละก้าว ซึ่งได้รับการตรวจเลือด และพบค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อ (Creatinine Phosphokinase หรือ CPK) ขึ้นสูงกว่า 4,000 U/L (โดยปกติ จะมีค่าอยู่ระหว่าง 15 – 220 U/L) ค่า CPK ที่ขึ้นสูงเช่นนี้บ่งบอกถึง ภาวะการสลายของกล้ามเนื้อที่ปนออกมาในเลือด ปัญหานี้อาจส่งผลร้ายแรงให้เกิดภาวะไตวายได้ นักวิ่งที่ประสบปัญหากล้ามเนื้อสลายหากรักษาไม่ทันท่วงทีหรือไม่ถูกวิธีก็อาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้จากสีของปัสสาวะ หากมีสีเข้มกว่าปกติควรดื่มน้ําให้มากขึ้น

การรักษาอาการบาดเจ็บจากการวิ่งนั้น รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่าสําหรับอาการบาดเจ็บเบื้องต้น นักวิ่งและคนรอบข้างสามารถปฐมพยาบาลได้ง่ายๆ ด้วยการใช้หลัก “RICE” ได้แก่

สําหรับการประคบเย็น ร้อน หรืออุ่นนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บ หากเป็นการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น ล้มข้อเท้าพลิกให้ประคบเย็นใน 48 ชั่วโมงแรก และประคบร้อนต่อเพื่อลดอาการบวม แต่ถ้าเป็นการบาดเจ็บหรือปวดเรื้อรังจากการใช้งานกล้ามเนื้อต่อเนื่องยาวนาน จําเป็นต้องประคบอุ่นเพื่อคลายกล้ามเนื้อ

รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นเกินกว่าที่ร่างกายจะเยียวยาด้วยตนเอง ก็จะใช้การส่องกล้องรักษา เช่น อาการหมอนรองกระดูกฉีกบริเวณหัวเข่า พบได้มากในนักวิ่งทั่วไป แพทย์จะรักษาด้วยการส่องกล้องทําความสะอาดบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บโดยไม่จําเป็นต้องผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติภายใน 1 เดือน และกลับไปวิ่งหรือเล่นกีฬาได้ภายใน 3 เดือน แต่สําหรับอาการบาดเจ็บสาหัสที่จําเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด มักเกิดขึ้นกับนักกีฬาอาชีพมากกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน เช่น เอ็นไขว้หน้าขาดในนักฟุตบอลที่เท้าพลิกจากการถูกกระแทก สาเหตุเช่นนี้ทําให้นักกีฬาอาชีพต้องเสียโอกาสในการลงแข่งขัน และจะต้องเข้ารับการส่องกล้องผ่าตัดซ่อมเอ็นโดยหลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ จะต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินและกลับมาเดินได้เป็นปกติภายใน 3 เดือน แต่หากจะกลับไปเล่นกีฬาอาจต้องใช้เวลา 7-8 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการออกแบบท่าบริหารร่างกายก่อนการฝึกซ้อมและลงแข่งขัน เพื่อช่วยป้องกันเอ็นขาดซึ่งลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

“การตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย การทําความ เข้าใจเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่ ร่างกายจะรับได้ (Maximum Heart Rate)”

สามารถคํานวณได้จากสูตร
MaxHR = 220 – อายุ

ตัวอย่างเช่น บุคคลอายุ 30 ปีจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด อยู่ที่ 190 ครั้งต่อนาที (bpm) ซึ่งการออกกําลังกายอย่างหนัก ควรมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 60 – 80% ของ MaxHR (ไม่เกิน 152 ครั้งต่อนาที) เพื่อความปลอดภัย อีกทั้ง ยังต้องเลือกประเภทและลักษณะการวิงที่เหมาะกับสภาพร่างกาย และวัยของตนเอง รวมถึงการตรวจเช็คสภาพอากาศ และการ เตรียมพร้อมของเครื่องแต่งกายและรองเท้าวิ่งด้วย