ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตา
และการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา
Excellence Center for Cornea and Limbal Stem Cell Transplantation
ให้การบริการรักษากระจกตาโดยเฉพาะ
ด้วยอุปกรณ์และวิทยาการรูปแบบใหม่แห่งแรกของประเทศไทย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา ให้การบริการรักษากระจกตาโดยเฉพาะ ด้วยอุปกรณ์และวิทยาการรูปแบบใหม่แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมศูนย์ฯ แห่งนี้ คือ หน่วยกระจกตา ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีชื่อเสียงในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้กับผู้ป่วยสำเร็จรายแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 นับแต่นั้นเป็นต้นมา เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาก็พัฒนาก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันสามารถเลือกเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะชั้นที่มีปัญหาโดยยังเก็บชั้นที่ดีเอาไว้ได้ ซึ่งข้อดี คือ สามารถเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริง ๆ ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงมาก การมองเห็นของผู้ป่วยจะดีขึ้นเร็วมาก
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจ คือ เรื่องการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ได้เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยทำได้ทั้งวิธีการนำสเต็มเซลล์ในตาอีกข้างที่ยังดีอยู่ของผู้ป่วยเองออกมาเพาะ หรือเพาะจากดวงตาที่ได้รับบริจาคมา จนถึงการนำเซลล์บุผิวในช่องปากผู้ป่วยเอง มาเพาะเลี้ยงเซลล์และนำมาปลูกถ่ายรักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวกระจกตาจากภาวะขาดสเต็มเซลล์ได้อีกด้วย ซึ่ง 3 วิธีดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด นำโดย ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
เจตจำนง
ให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคกระจกตาที่มีภาวะจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตาและสเต็มเซลล์อย่างครบวงจร
ภาระหน้าที่
ด้านการบริการ
- ให้การรักษาอย่างครบวงจรแก่ผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา
- ให้การรักษาอย่างครบวงจรแก่ผู้ป่วยโรคผิวดวงตาที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ด้านการสร้างองค์ความรู้
- สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันนานาชาติในการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา บริหารงานโดย…
รศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ ดำรงตำแหน่งประธาน และมี รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ (หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา) เป็นรองประธาน อีกทั้งยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมดำเนินงานอีกด้วย
การให้บริการของศูนย์
ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้เปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการ โรคผิวกระจกตา และผู้ที่มีภาวะพร่องเนื้อเยื่อลิมบัส ไม่นับรวมโรคกระจกตาเสื่อม กระจกตาอักเสบ กระจกตาติดเชื้อ ด้วยทีมแพทย์ประจำศูนย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกระจกตาระดับต้น ๆ ของเมืองไทย อีกทั้งยังได้ทำการวิจัยเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ผิวกระจกตา ร่วมกับหน่วยวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศ โดยมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับให้บริการ ได้แก่
- การนำเลเซอร์ชนิด Femtosecond มาใช้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
- การพัฒนาการผ่าตัดกระจกตาโดยใช้เทคโนโลยี DALK DSAEK และ DMEK
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของกระจกตาให้กับผู้ป้วยโรคผิวดวงตา
- การฉายรังสียูวีที่กระจกตา
- การผ่าตัดใช้วงแหวนแก้ไขโรคกระจกตาโก่ง
เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ฯ ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคกระจกตาทุกชนิดอย่างครบวงจร ทำให้ผู้ป่วยโรคกระจกตาชนิดซับซ้อนจากหลากหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศจึงถูกส่งตัวมารักษา ณ ศูนย์ฯ แห่งนี้ ปัจจุบันศูนย์ฯ มีการตรวจผู้ป่วยกว่า 300 รายต่อเดือน ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตากว่า 120 รายต่อปี และรักษาด้วยการใช้สเต็มเซลล์ภายใต้ทุนวิจัยแผ่นดินและทุนสวทช. กว่า 30 รายต่อปี
นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้วางแผนที่จะติดตามผลงานผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่โรงพยาบาล โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลทุกจังหวัดเพื่อให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์ และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดผ่านทางการประชุมทางไกล (Teleconference)
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา
เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคาร ส.ธ. ชั้น 13 และ 14
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา
อาคาร ส.ธ. ชั้น 13 และ 14
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 4142, 4422
เว็บไซต์หน่วยงาน