ฝ่ายนิติเวชศาสตร์

Department of Forensic Medicine

นิติเวชจุฬา เดินหน้าสู่ความเป็นนานาชาติ

ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งโดย ศ.พ.ต.อ.นพ.ถวัลย์ อาศนะเสน เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากหน่วยนิติเวชวิทยาซึ่งอยู่ภายใต้ภาควิชาพยาธิวิทยา โดยมีงานด้านศพคดี ปฏิบัติงานที่อาคารพยาธิวิทยา และงานด้านผู้ป่วยคดี ปฏิบัติงานที่โถงอาคารจักรพงษ์ 

ปี พ.ศ. 2510 ได้ขอเสนอยกฐานะหน่วยงานเป็นแผนกวิชานิติเวชวิทยา ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2511 มีข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่มแผนกนิติเวชวิทยา ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีที่ทำการที่อาคารนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

ปี พ.ศ. 2519 มีตำรานิติเวชศาสตร์เล่มแรกของภาควิชานิติเวชศาสตร์ โดย ศ.พ.ต.อ.นพ.ถวัลย์ อาศนะเสน

ปี พ.ศ. 2526 เปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชศาสตร์ เพื่อรับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขานิติเวชศาสตร์ โดยมีผู้เข้าอบรมครั้งแรกในปี พศ. 2528

ปี พ.ศ. 2531 เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขานิติเวชศาสตร์

ปี พ.ศ. 2537 ภาควิชาฯ ได้จัดทำตำรานิติเวชศาสตร์ โดยคณาจารย์ภาควิชาฯ โดยมี ผศ.นพ.แมน อิงคตานุวัฒน์ และผศ.นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร เป็นบรรณาธิการ

ปี พ.ศ. 2543 ภาควิชาฯ ได้รับผิดชอบพื้นที่การชันสูตรศพในพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 และทางด่วน

ปี พ.ศ. 2550 วารสารนิติเวชศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เมษายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ปี พ.ศ. 2554 ภาควิชานิติเวชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งเอเชียน (AFSN, Asian Forensic Sciences Network)

ปี พ.ศ. 2554 เปิดหลักสูตรปริญญาโทวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก แขนงนิติวิทยาศาสตร์

ปี พ.ศ. 2554 Prof.Dr.Bruce Budowle ให้เกียรติเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ และให้ความร่วมมือในการเรียนการสอนการวิจัยด้านนิติพันธุศาสตร์

ปี พ.ศ. 2556 การทำวิจัยการชันสูตรศพใหลตายร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว

ปี พ.ศ. 2561 ภาควิชาฯ ได้รับความร่วมมือกับ Dr.Robert Mann ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติมานุษยวิทยา ในการจัดการฝึกอบรมระยะสั้นและการเรียนการสอนการวิจัยระดับหลังปริญญา

เจตจำนง

นิติเวชจุฬา เดินหน้าสู่ความเป็นนานาชาติ

ภาระหน้าที่

  1. พัฒนาทุกกระบวนการตามมาตรฐานนานาชาติ
  2. ผลิตบุคลากรทางนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพพร้อมคุณธรรม
  3. ผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
  4. เป็นผู้นำด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์
  5. บริหารด้วยพื้นฐานธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง

โครงสร้างของฝ่ายนิติเวชศาสตร์

ฝ่ายนิติเวชศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน และ 12 หน่วยงานย่อย ได้แก่

1. กลุ่มงานบริการ ประกอบด้วย

  • ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ
  • หน่วยนิติเวชคลินิก
  • หน่วยนิติเซโรวิทยาและดีเอ็นเอ
  • หน่วยนิติพยาธิวิทยา
  • หน่วยนิติรังสีวิทยา
  • หน่วยนิติพิษวิทยา

2. กลุ่มงานวิชาการและวิจัย ประกอบด้วย

  • หน่วยการศึกษาปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา
  • หน่วยวิจัย
  • หน่วยโสตและทัศนูปกรณ์

3. กลุ่มงานบริหาร ประกอบด้วย

  • หน่วยบริหารภาควิชาฯ
  • หน่วยบริหารฝ่ายฯ
  • หน่วยประกันและพัฒนาคุณภาพ

การให้บริการของฝ่ายนิติเวชศาสตร์

  1. งานบริการชันสูตรพลิกศพของศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ ให้บริการตรวจชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ การผ่าชันสูตรศพ การฉีดยารักษาสภาพศพ และงานวัตถุพยาน
  2. งานบริการนิติเวชคลินิกให้บริการตรวจผู้ป่วยคดีและออกใบรับรองแพทย์
  3. งานบริการนิติพันธุศาสตร์และดีเอ็นเอ ให้บริการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์พ่อ แม่ ลูก และความสัมพันธ์ในเครือญาติ รวมถึงการตรวจพิสูจน์หลักฐานการล่วงละเมิดทางเพศ
  4. งานบริการนิติพิษวิทยา ให้บริการตรวจวิเคราะห์ยา สารพิษ และสารเสพติด
  5. งานบริการต่าง ๆ สอบถามข้อมูลรายละเอียดได้จากหน่วยปฏิบัติงานในแต่ละการบริการ

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

หน่วยนิติเวชคลินิก หรือหน่วยนิติเซโรวิทยาและดีเอ็นเอ  
สถานที่ปฏิบัติงาน อาคาร ภปร ชั้น 5  เวลา 08.00 – 16.00 น. ในวันทำการ (บริการตรวจผู้ป่วยคดี เวลา 09.00 – 12.00 น.)

ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ  
สถานที่ปฏิบัติงาน อาคารนิติเวช เวลา 08.00 – 16.00 ทุกวัน โดยมีเวรรับแจ้งและการปฏิบัติงานการตรวจชันสูตรพลิกศพ ณ ที่พบศพ ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

หน่วยนิติพิษวิทยา  
สถานที่ปฏิบัติงาน อาคาร อปร ชั้น 11 เวลา 08.00 – 16.00 น. ในวันทำการ

หน่วยงานอื่น ๆ
สถานที่ปฏิบัติงาน อาคารเรนาโต  เวลา 08.00 – 16.00 น. ในวันทำการ

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายนิติเวชศาสตร์  
อาคารนิติเวช

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4269