โรคซึมเศร้า บั่นทอนจิตและสุขภาพ


ทุกวันนี้ เราได้ยินการกล่างถึง โรคซึมเศร้า (Depression) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีปัจจัยจากภาวะแวดล้อมต่าง ๆ หรือปัญหาทางชีวภาพของ ร่างกายที่ส่งให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานไม่ปกติ ผลิตอารมณ์และมุมมองในแง่ลบ ข่าวดี คือ โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ บุคคลรอบตัวควรเปิดใจและพยายามหาทางช่วยเหลือโดยไม่ซ้ำเติมผู้ป่วย เห็นอกเห็นใจ และไม่เอามุมมองของตนเองเข้าไปตัดสินคนไข้

สาเหตุของโรค

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยต่างๆประกอบร่วมกัน เช่น
– ปัจจัยทางพันธุกรรม พบโรคซึมเศร้าสูงในญาติของผู้ป่วยซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือติดสารเสพติด
– โรคทางกายต่างๆที่มีผลกับสมองโดยตรงเช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และฮอรโมนอื่น ๆ โดยเฉพาะฮอรโมนของเพศหญิง และโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น ความพิการที่ต้องพึงพิง ผู้อื่น โรคปวดเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านทานตนเอง
-ยาบางชนิดที่สามารถรบกวนสมอง หรือสารเสพติดต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมี ปัจจัยด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัยพื้นฐาน เช่น ความคาดหวังสูง กดดันตนเอง มองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย มีปัญหาแล้วเก็บกดไม่ปรึกษาใคร เอาชีวิตไปขึ้นกับบุคคลอื่น เป็นต้น

อาการของโรค

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการแสดงออกในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป
โดยมีความรู้สึกหดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่าย จิตใจไม่สดชื่นแจ่มใส ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฎ ให้เห็นติดต่อกันเกือบทุกวัน เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ในบางรายอาจมีความคิดอยากตาย หรือฆ่าตัวตายร่วมด้วย

สำหรับอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ มีความเศร้าซึมหรือกังวล หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่ายตลอดเวลา ดูไม่มีความสุข ส่วนด้านความคิด มีความคิดในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย
สิ้นหวังไร้แรงจูงใจ ด้านพฤติกรรม จะรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรงไปทำอะไร
ทำงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ด้านร่างกาย มีอาการนอนไม่หลับ
ตื่นกลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้ น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ
ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตบกพร่องลง เสียประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงาน
รวมถึงเกิดปัญหาปฎิสัมพันธ์จากการที่เปลี่ยนไปแทบเป็นคนละคนนี้

วิธีการรักษา

โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ โดยมีวิธีการรักษาหลัก ๆ สองวิธี คือ
วิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยา โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษา แต่ละชนิดแตกต่างกัน และสามารถทำร่วมกันได้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์และเภสัชกรรม ในปัจจุบันทำให้ยารักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อตับไต หรือทำให้ติดยาอย่างที่เคยเชื่อกัน

ผู้ป่วยสามารถเข้าพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองเพื่อวิเคราะห์อาการของโรคและรับคำปรึกษา
โดยคนใกล้ชิดของผู้ป่วยก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องเข้าใจและคอยให้กำลังใจผู้ป่วยโดยไม่ซ้ำเติม หรือมองว่าอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยคิดหรือสร้างขึ้นมาเอง และใช้คำพูด หรือพฤติกรรมต่าง ๆ บั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วย เพราะที่จริงแล้วย่อมไม่มีใครไม่ปรารถนาชีวิต ที่สงบสุข เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษา ฟื้นฟูสภาพจิตใจจะกลับมาเชื่อมั่นมีความหวังก็สามารถใช้ชีวิตดูแลตนเองได้

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
แผนกจิตเวช อาคาร ภปร ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทร. 0-2256-4000, 0-2256-5180, 0-2256-5182