เครื่องอัลตราซาวนด์ สำหรับให้น้ำเกลือในผู้ป่วยเด็ก ช่วยในการเปิดเส้นเลือดดำ


การทำหัตถการในผู้ป่วย เช่น การให้น้ำเกลือ โดยทั่วไปแพทย์จำเป็นจะต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการเปิดเส้นเลือดดำซึ่งความยากง่ายในการทำหัตถการนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นเลือดดำใต้ผิวหนังของผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับผู้ป่วยบางรายที่เส้นเลือดดำบริเวณใกล้ผิวหนังหาได้ยาก และจำเป็นต้องเปิดเส้นเลือดดำที่ลึกลงไป อาจส่งผลให้การเปิดเส้นเลือดดำเพื่อแทงเข็มน้ำเกลือสำเร็จได้ยาก ทำให้แพทย์ต้องใช้เวลาและจำนวนครั้งในการทำหัตถการมากขึ้นตามไปด้วย อันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดของผู้ป่วย โดยเฉพาะการทำหัตถการในผู้ป่วยเด็กที่มีความยากและต้องใช้ทักษะสูงในการเปิดเส้นเลือดดำมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นหลายเท่า

นพ.พิพัฒน์ แซ่ยับ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ริเริ่มนำเครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เข้ามาใช้ในการเปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงที่มาของการนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ว่า แต่เดิมวิธีการทำหัตถการให้น้ำเกลือในผู้ป่วยเด็กด้วยการเปิดเส้นเลือดดำซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงน้อย 2 วิธี คือ

1) การใช้ทักษะเฉพาะตัวของแพทย์ในการเปิดเส้นเลือดดำที่มือของผู้ป่วยเด็ก พบว่าบางครั้งทำได้ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญสูง เนื่องจากเส้นเลือดดำที่มือผู้ป่วยเด็กมีขนาดค่อนข้างเล็ก บาง และเปราะ ทำให้ต้อง.ช้เวลาและจำนวนครั้งในการทำหัตถการค่อนข้างมากและยังสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย 2) การใช้แสงสีแดง (Red Light Vein Finder) ส่องที่มือของผู้ป่วยเพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งเส้นเลือดดำและสามารถเปิดเส้นเลือดดำได้ตรงตำแหน่ง แต่มีข้อจำกัดคือ แสงที่ส่องช่วยให้มองเห็นเส้นเลือดดำได้ในบริเวณที่มีผิวหนังบางๆ เท่านั้นไม่สามารถใช้กับเส้นเลือดดำที่อยู่ลึกในผิวหนังได้

แต่การนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในการเปิดเส้นเลือดดำนั้นสามารถทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นเลือดดำได้อย่างชัดเจนสามารถทำการเปิดเส้นเลือดดำได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดจำนวนครั้งในการแทงเข็ม ลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย รวมถึงลดระยะเวลาในการทำหัตถการให้น้อยลงอีกด้วย

เมื่อสอบถามถึงแรงบันดาลใจในการนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในการเปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยเด็ก นพ.พิพัฒน์ เล่าว่า เกิดจากการที่ได้มีโอกาสไปศึกษาและปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลในเมืองเกียวโตโดยการสนับสนุนของสมาคมวิสัญญีแพทย์ประเทศญี่ปุ่น (Japanese Society of Anesthesiologists) เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในการเปิดเส้นเลือด ทั้งเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง แม้ว่าการนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในการทำหัตถการนี้จะต้องใช้ทักษะอื่นเพิ่มเติม แต่กลับช่วยให้การเปิดเส้นเลือดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งกลับมาประเทศไทยก็พบว่าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เองก็มีการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ลักษณะเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่ที่นี่นำมาใช้สำหรับการอัลตราซาวนด์เพื่อระงับความรู้สึกของเส้นประสาทเท่านั้น และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้นำเครื่องอัลตราซาวนด์นี้มาใช้ในการเปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สำหรับประโยชน์ของการนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในการเปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยเด็กคือ ช่วยให้แพทย์สามารถมองหาเส้นเลือดดำได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าเส้นเลือดจะอยู่ลึกเพียงใด ทำให้สะดวกในการทำหัตถการ อีกทั้งตัวเครื่องอัลตราซาวนด์มีขนาดเล็ก กะทัดรัด เคลื่อนย้ายง่าย และสามารถใช้งานได้ด้วยคนเพียงคนเดียว แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อใช้เปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยเด็กนี้ แพทย์ผู้ใช้งานจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเนื่องจากต้องใช้ทักษะเพิ่มเติมที่แตกต่างจากการเปิดเส้นเลือดดำโดยทั่วไป ทั้งยังแตกต่างจากการใช้งานเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อระงับความรู้สึกของเส้นประสาท กล่าวคือ ภาพที่ปรากฏบนจอสำหรับการระงับความรู้สึกของเส้นประสาทจะเห็นเป็นภาพตัวเข็มในแนวยาว แต่สำหรับการเปิดเส้นเลือดดำที่มือนั้น ภาพที่ปรากฏบนจอจะเห็นเพียงแค่ปลายเข็มที่มีลักษณะเป็นจุดเท่านั้น ดังนั้นหากฝึกฝนบ่อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยก็จะสามารถใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อเปิดเส้นเลือดดำให้กับผู้ป่วยได้อย่างชำนาญ และสามารถทำหัตถการให้น้ำเกลือผู้ป่วยได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

“การนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในหัตถการนี้ไม่ใช่ทักษะใหม่ เพียงแต่เพิ่มเติมบางขั้นตอนเข้าไปเท่านั้น
ซึ่งช่วยให้แพทย์สะดวกในการรักษาและลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยเด็ก”

ปัจจุบัน นพ.พิพัฒน์ ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อเปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยให้แก่แพทย์ประจำบ้าน (Resident) ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อส่งต่อความรู้อันจะเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการให้กับผู้ป่วยเด็กเนื่องจากเห็นว่าวิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์อยู่มาก อีกทั้งการนำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้ในหัตถการนี้ก็ไม่ใช่ทักษะใหม่ หากแต่เป็นการนำทักษะการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เดิมมาเพิ่มเติมบางขั้นตอนเข้าไปเท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับช่วยให้การทำหัตถการของแพทย์มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

นอกจากนี้ นพ.พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในอนาคตอยากเชิญชวนให้แพทย์สาขาอื่นๆ นอกจากวิสัญญีแพทย์ เช่น แพทย์เวชบำบัดวิกฤต อายุรแพทย์ ได้มาฝึกฝนการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อเปิดเส้นเลือดดำในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งจะสามารถช่วยลดการรอเพื่อขอความช่วยเหลือจากวิสัญญีแพทย์ และช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยดำเนินไปได้สำเร็จลุล่วงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น