กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง


หลังจากคอลัมน์ที่แล้วได้นำทุกท่านไปรู้จักกับกลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง (Therapeutic Antibody Research and Development) หนึ่งในกลุ่มวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งด้านภูมิคุ้มกันบำบัดซึ่งจะเน้นพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาในประชากรไทย เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการนำเข้ายาและเทคโนโลยีในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง ฉบับนี้จึงไม่รอช้าที่จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับอีกหนึ่งกลุ่มวิจัยได้แก่ กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cancer Cellular Immunotherapy) ที่ได้รับความร่วมมือจากนานาชาติและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกัน บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยและการพัฒนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งหมดนั้นมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี อันเนื่องมาจากการร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่งผลให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง มีห้องสำหรับผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 8 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้งานวิจัยพัฒนานั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพและเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แม้ปัจจุบันจะมีวิธีรักษาโรคมะเร็งอยู่หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีวิธีไหนที่จะรักษามะเร็งให้หายขาดได้ รวมถึงมีผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสูงมาก ดังนั้นการวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการรักษาแบบใหม่ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นไปที่การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดซึ่งได้ผลในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับวิธีการรักษาแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา ได้เล่าถึงวัตถุประสงค์พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยที่ทางกลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็งกำลังดำเนินการอยู่ ดังนี้

1) Chimeric Antigen Receptor T cell (CAR T cell) คือ การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเซลล์บำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) แล้ว คือ CD19 CAR T cell และมีอยู่ 2 ชนิดที่ได้รับอนุมัติให้จัดจำหน่าย ได้แก่ Kymriah จาก Novartis และ Yescarta จาก Kite Pharma แต่ด้วยราคายาที่สูงมากถึง 15 ล้านบาท โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องพัฒนาและดำเนินการวิจัยเพื่อให้ผู้ป่วยชาวไทยได้รับการรักษาที่ทัดเทียมกับนานาชาติในราคาที่สมเหตุสมผล ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา อธิบายเพิ่มเติมว่าปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลที่ดีมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ที่มีการแสดงออกของ CD19 ทั้งยังพบด้วยว่าให้ผลที่ดีอย่างน่าอัศจรรย์กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคาดว่าจะสามารถเริ่มทำการวิจัยในผู้ป่วยคนแรกได้ภายในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนั้นกลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา CAR T cell ต่อมะเร็งชนิดอื่นๆ ในระดับห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลองอีกด้วยสำหรับคณะผู้วิจัยกลุ่ม CAR T cell ประกอบด้วย ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์, อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ และ อ.ภญ.ดร.สุพรรณิการ์ ถวิลหวัง กำลังพัฒนาการผลิต CD19 CAR T cell โดยทำงานร่วมกับทีมแพทย์ทางโลหิตวิทยา

2) T cell Therapy คือ การรักษาที่ใช้ได้ผลดีกับเซลล์มะเร็งที่มีเชื้อไวรัส เช่นมะเร็งหลังโพรงจมูกและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยจะนำเลือดของผู้ป่วยมาแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวและกระตุ้น T cell ให้มีความจำเพาะต่อส่วนของไวรัสที่อยู่ในเซลล์มะเร็ง และเลี้ยงให้มีปริมาณเพียงพอแล้วส่งกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย สำหรับงานวิจัย T cell Therapy นั้นมี ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนา T cell เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ยังพบข้อจำกัดด้านเวลาจากการเพาะเลี้ยง T cell ซึ่งใช้เวลานานและคาดการณ์เวลาที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไม่ได้ ส่งผลให้โจทย์ที่ตามมาของผู้วิจัยจึงเป็นการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่โดยใช้การดัดแปลงพันธุกรรมของ T cell จากผู้ป่วยเอง หรือที่เรียกว่า TCR T cell Therapyซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ดีและเหมาะสมกว่า

3) NK/NKT cell คือ การรักษาโดยใช้เอ็นเคเซลล์ (NK cell) กล่าวคือ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ดี เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิด Myeloid ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ ตอบสนองต่อการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ทั้งนี้การเลี้ยง NK cell และเพิ่มจำนวนให้มีปริมาณเพียงพอนั้นทำได้ยาก เนื่องจาก NK cell ในกระแสเลือดมีปริมาณน้อยและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงมาก แต่ นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าคณะวิจัย NK cell ก็สามารถพัฒนาวิธีการเพิ่มจำนวน NK cell และ NKT cell ภายนอกร่างกายให้สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ได้มากขึ้นกว่าวิธีมาตรฐาน

ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา อธิบายเสริมด้วยว่าคณะผู้วิจัยได้วางแผนจะพัฒนาการดัดแปลงพันธุกรรมของ NK cell และ NKT cell เพื่อให้เซลล์ดังกล่าวสามารถหลบหลีกสัญญาณการยับยั้งการท􀄞ำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันจากเซลล์มะเร็งและสภาวะแวดล้อม แต่การพัฒนาดังกล่าวยังอยู่ในระดับการทดสอบในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอที่จะทำการวิจัยในระดับคลินิกต่อไป

ฉบับหน้า เตรียมพบกับกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง (Neoantigen and Cancer Vaccine) ที่จะมาบอกเล่าการวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี อายุยืนยาวขึ้น ได้ในคอลัมน์ “บอกเล่าก้าวทันหมอ”

สำหรับท่านที่ประสงค์จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสามารถร่วมสมทบทุนผ่านบัญชีธนาคารไทยพ่ณิชย์ เลขบัญชี 045- 304 669-7 (กระแสรายวัน) ท่านสามารถ นำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการระยะยาวนี้จะมีคุณประโยชน์แก่ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมาก

ช่องทางการติดต่อ
Website : www.canceriec.md.chula.ac.th
Facebook Page : CU Cancer Immunotherapy Fund