ความหวังใหม่ในอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตด้วยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด นอกจากนี้สถิติการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ยังมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โรคมะเร็งจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่แท้จริงของประเทศไทย ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกร่างกายผู้ป่วย เช่น พันธุกรรม หรือวิถีการดำเนินชีวิตผิดๆ ของคนยุคสมัยใหม่ เป็นการเร่งภาวะการก่อมะเร็งมากขึ้น ขณะเดียวกัน การรักษามาตรฐานในปัจจุบัน ยังมีประสิทธิภาพไม่สูงมากนัก และอาจเกิดผลข้างเคียงในอัตราที่สูงได้ จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด การรักษาด้วยแอนติบอดีเพื่อเอาเบรคออกใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งบางรายที่มีภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อมะเร็งอยู่แล้วแค่ปลดเบรคออกก็มีภูมิไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่รายที่ยังไม่มีภูมิจึงมีความจำเป็นจะต้องกระตุ้นภูมิต้านมะเร็งเพิ่มเติมโดยใช้หลักการของวัคซีนนั่นเอง

ดังนั้น “หากเราสามารถค้นพบวิธีการรักษามะเร็งที่มีความจำเพาะต่อบุคคลได้จะเป็นอย่างไร?” จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและเป็นวัตถุประสงค์ของกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจน และวัคซีนต่อมะเร็ง (Neoantigen and Cancer Vaccine) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งด้านภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการศึกษาทางคลินิกนำทีมโดย รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมีอ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยและมีทีมนักวิจัยประกอบด้วย ดร.นพัต จันทรวิสูตร ดร.ภูริชญา สมภาร ดร.ธรรมกร แซ่ตั้ง ดร.พิริยะ วงศ์คงคาเทพ น.ส.สรินยา คำปัญญา น.ส.จิรัฏฐา ศิริลักษณ์ นายจิราเดช มักเจริญ น.ส.นัฐธิญา กาลพงษ์นุกุล และนายอิสรา อาลี นอกจากนี้โครงการนี้ยังมีความร่วมมือกับอาจารย์และนักวิจัยด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก

แผนภาพแสดงขั้นตอนการผลิตวัคซีนต่อต้านมะเร็งเฉพาะบุคคล
โดยวัคซีนจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งให้สามารถต่อต้านมะเร็งได้

อ.นพ.ไตรรักษ์ อธิบายว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีเชื้อมะเร็งอยู่ในร่างกาย เมื่ออยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีปัจจัยเหมาะสม จะกระตุ้นให้เกิดภาวะก่อมะเร็งเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือเชื้อมะเร็งที่ว่ายังมีความเป็นเฉพาะบุคคลอีกด้วย กล่าวคือความหลากหลายของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะเดียวกัน หน้าตาของเซลล์เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันในด้านพันธุกรรมของมะเร็ง ทำให้การรักษาแบบเหมารวมไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาที่เหมาะสมต่อมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การวิจัยพัฒนารักษาโรคมะเร็งในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงและที่สำคัญคือมีความจำเพาะต่อโมเลกุลเป้าหมายในเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดของผู้ป่วยแต่ละราย

วัคซีนที่คนทั่วไปรู้จักในการป้องกันโรคต่างๆ ทำงานด้วยการนำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรงลง และนำเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะไม่ทำให้เกิดอาการของโรค แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ให้จดจำเชื้อโรคเหล่านั้นได้ เมื่อเจอเชื้อโรคหน้าตาเหมือนเดิมในครั้งต่อไป ร่างกายก็จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัคซีนมะเร็งมีหลักการการทำงานคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป้าหมายของโครงการนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคือ การผลิตวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งตอบสนองต่อต้านมะเร็งได้นั่นเอง

มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์จะสร้างโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์ออกมา โปรตีนเหล่านั้นจะเป็นเป้าหมายต่อการใช้วัคซีนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยให้ต่อต้านโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถเห็นโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์เป็นสิ่งแปลกปลอมได้ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการพิเศษทำให้มีความสามารถในการจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีนกลายพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายได้อย่างจำเพาะโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย วิธีใหม่นี้มีความแตกต่างจากวิธีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อมะเร็งในอดีตที่ยังไม่ได้ผลดีนัก ซึ่งเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ 1) การใช้ก้อนมะเร็งทั้งหมดเป็นวัคซีน ซึ่งในก้อนมะเร็งจะมีโปรตีนที่เหมือนกับเซลล์ปกติเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้กระตุ้นภูมิได้ไม่ดี และ 2) การใช้โปรตีนกลายพันธุ์ที่พบบ่อยในก้อนมะเร็งแค่บางชนิดเป็นวัคซีน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควรเนื่องจากก้อนมะเร็งมีการกลายพันธุ์ที่หลากหลาย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการใช้วัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนกลายพันธุ์หลากหลายชนิดที่พบเฉพาะในก้อนมะเร็งของผู้ป่วยคนนั้นๆ หรือที่เรียกว่า วัคซีนต่อมะเร็งเฉพาะบุคคลจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน

                   อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล                                                               รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ กล่าวเสริมอีกว่า แม้ว่าวิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจะมีหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง แต่วิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัดในประสิทธิภาพของการรักษาที่จะได้ผลดีในมะเร็งระยะเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ การรักษาดังกล่าวไม่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง จึงอาจเกิดผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ดังนั้นการวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการรักษาแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดและก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งได้นำเอาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล่าสุดมาใช้เพื่อหาและตรวจสอบยีน รวมถึงโปรตีนทั้งหมดจากเซลล์มะเร็ง ค้นหาการกลายพันธุ์ที่มีความหลากหลายทั้งหมดในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งเล่าว่า ขณะนี้มีการค้นพบโปรตีนกลายพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายในการสร้างวัคซีนจากกลุ่มตัวอย่างเนื้อเยื่อมะเร็งจากผู้ป่วยทั้งหมด 25 ราย และยังค้นหาต่อเนื่องให้ได้มากที่สุดเพื่อให้สามารถนำมาพัฒนาวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำไปใช้ในการทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะเพิ่มโอกาสทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย

นอกจากนั้น กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง ยังได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญสาขาเคมีด้านนาโนเทคโนโลยี ภูมิคุ้มกันวิทยา และแพทย์จากทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Therapy) รวมถึงระบบการนำส่งวัคซีนชนิดต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆของประเทศเกิดขึ้นได้จริงและก้าวไปสู่ปลายทางที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น เพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิต สร้างสังคมไทยให้ปราศจากโรคภัยต่อไป


สำหรับท่านที่ประสงค์จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สามารถร่วมสมทบทุน
ผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย
ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)
เลขที่บัญชี 045-304669-7 (กระแสรายวัน)

ซึ่งผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ในระยะยาว จะมีคุณประโยชน์แก่ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมาก
นอกจากนี้ การบริจาคช่องทางนี้ ท่านสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า


ช่องทางการติดต่อ
Website : www.canceriec.md.chula.ac.th
Facebook Page : CU Cancer Immunotherapy Fund