งานเสวนา การเอาตัวรอดจากการกราดยิง (Escape and Survive in Mass Shooting)

ข่าวประชาสัมพันธ์

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง Escape and Survive in Mass Shooting เพื่อให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเทคนิคการเอาตัวรอด และการสาธิตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยมี ผศ.(พิเศษ)นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านภาพลักษณ์องค์กร เป็นประธานกล่าวเปิด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ ได้แก่

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อง “Run/Hide/Fight : การเอาตัวรอดจากการกราดยิง”

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อง “Keep calm in critical situation ”

ผศ.นพ.กฤตยา กฤตยากีรณ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนพ.พสุรเชษฐ์ สมร ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อง “Surviving from gunshot /Stop the bleed program with demonstration”

พอ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เรื่อง “Frequently used weapons for Mass Shooting” และมี ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร แพทย์นิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ ห้อง 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

ทั้งนี้ รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า

“…กรณีกราดยิง ที่เกิดจากการเคียดแค้นสังคม จะมีลักษณะการเก็บแต้ม คือฆ่าให้เรียบ ให้ได้เยอะที่สุด ดังนั้นเวลาประชาชนหลบหนีอย่าไปกระจุกตัว หากมีการกระจุกตัว หากคนร้ายเห็นอาจจะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ฉะนั้นเวลาไปในที่สาธารณะผมอยากจะขอให้ประชาชน ให้ความสนใจกับสิ่งรอบข้าง หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น เสียงดังปังแม้ว่าจะเป็นเสียงปะทัดก็ขอให้สังเกต อาจจะเป็นเสียงปืน และดูผู้คนว่ามีเสียงหวีดร้อง แตกตื่นหรือไม่ หากเสียงปังหนึ่งครั้งในทิศทางเดียวแสดงว่าคนร้ายมี 1 คน หากเสียงปังหลายครั้งในหลายทิศทางอาจจะมีการปะทะหรือต่อสู้กัน เมื่อเป็นแบบนี้เราต้องรู้ว่าจะหนีไปทางไหน สิ่งที่เราต้องคิดคือ หนี ซ่อน สู้ คือหนีไปจากสถานการณ์เพื่อไปซ่อนตัวในที่ปลอดภัย อย่าห่วงของข้าว ปิดไฟมืด ปิดเสียงโทรศัพท์ ล็อกประตู ใช้ของหนักขวางไว้ แอบหลังโต๊ะ ตู้ที่แข็งแรง เมื่อเราปลอดภัยแล้วประเมินว่าเราสามารถช่วยคนอื่นได้หรือไม่…”