Resus Ultrasound แอพพลิเคชั่นสุดล้ำ เพื่องานแพทย์ฉุกเฉินทั่วโลก

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกยุคดิจิตอลได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเราในทุกด้านอย่างก้าวกระโดด งานแพทย์ก็เช่นกัน จากตำราแพทย์เล่มใหญ่ยักษ์ได้เปลี่ยนโฉมเป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ที่มีชื่อว่า “Resus Ultrasound” ซึ่งมาจากคำว่า Resuscitation หรือ การกู้ชีพ การรักษาผู้ป่วยให้พ้นจากภาวะวิกฤต แอพพลิเคชั่นจึงเป็นคู่มือการใช้อัลตร้าซาวด์ในห้องฉุกเฉิน และเป็นนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินครั้งแรกของไทย

พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ริเริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Resus Ultrasound” ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ว่า การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยในเคสฉุกเฉินนั้นต่างจากการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่หมดสติไม่สามารถซักประวัติได้ การอัลตร้าซาวด์ในห้องฉุกเฉินจึงเป็นวิธีที่จำเป็นมาก ทำให้เห็นอาการที่แท้จริงของผู้ป่วย และยังช่วยลดขั้นตอนการวินิจฉัยจาก 60 นาที เหลือเพียง 5 นาที อีกทั้งงานฉุกเฉินยังต้องทำงานแข่งกับเวลาและอาศัยความแม่นยำจึงได้เห็นจุดอ่อนของการเปิดตำราในนิสิตแพทย์ที่อาจไม่ทันการณ์ ในขณะที่การใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ครบทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จึงเป็นคู่มือช่วยลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์อาการผู้ป่วยได้อีกทั้งยังเป็นภาษาอังกฤษ นั่นหมายถึงแพทย์ฉุกเฉินสามารถใช้งานได้ทั่วโลก

ตัวอย่างเคสที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยไข้เลือดออกในความเข้าใจโดยทั่วไปคือผู้ป่วยโรคนี้มักมีภาวะขาดน้ำทำให้เสียชีวิต แต่ภายหลังจากการทำอัลตร้าซาวด์ในห้องฉุกเฉินพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ แต่อีกครึ่งหนึ่งมีภาวะน้ำเกิน หรือแม้กระทั่งแพทย์ที่ต้องล้างไตให้กับผู้ป่วยโรคไตก็ใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นได้เป็นอย่างดี ทำให้โอกาสแทงโดนปอดประมาณ 5% ลดลงเป็น 0%

พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล กล่าวว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ ใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่าเท่านั้น ก็สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ อาจารย์แพทย์ วิศวกร และนักออกแบบ ทำให้มีลักษณะ user friendly หรือง่ายต่อการใช้งาน การเข้าดูข้อมูลในส่วนต่างๆ ไม่ซับซ้อน อีกทั้งเครื่องอัลตราซาวด์ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีมากถึง 6 เครื่อง ซึ่งนับว่ามากที่สุดของประเทศไทย จึงมั่นใจว่าเมื่อใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นนี้แล้วสามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่สำหรับสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อคือ การรองรับการใช้งานบนระบบ Android เพราะในขณะนี้ สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้บนระบบ iOS เท่านั้น ซึ่งแอพพลิเคชั่น “Resus Ultrasound” มีข้อดีคือ เมื่อโหลดมาไว้บนมือถือแล้ว สามารถใช้งานได้แม้ไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

ไม่เพียงแค่ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น แต่พญ.สุธาพร มองว่าการอัลตราซาวด์ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้แพทย์ชุมชน หรือแพทย์ท้องถิ่น ได้มีโอกาสเรียนรู้และมีศักยภาพได้เท่าเทียมกับแพทย์ในเมือง ดังคำกล่าวที่ว่า “Ultrasound makes horrible doctors to decent one.” หรือ การอัลตราซาวด์ช่วยให้แพทย์ทุกระดับสามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีมาตรฐานนั่นเอง