มะเร็งต่อมลูกหมาก


ต่อมลูกหมากทำหน้าที่สร้างสารน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำอสุจิในเพศชาย โดยต่อมลูกหมากอยู่ใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะและหุ้มรอบท่อปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมากมักพบได้ใน ผู้ชายสูงอายุ โดยคาดการว่าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยใหม่ 1,600,000 คนต่อปี และเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณปีละ 366,000 คน และจากข้อมูลการรักษาปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5, 10 และ 15 ปี เป็น 99 %, 98% และ 96% ตามลำดับ มะเร็งต่อมลูกหมากเกือบทั้งหมดเป็นเซลล​์ชนิด adenocarcinoma (มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่ผลิตสารน้ำและสารคัด หลั่งต่างๆ) ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีการเติบโตในอัตราที่ช้า ส่วนใหญ่พบในผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยมักไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อม ลูกหมาก

ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปัสสาวะไหลช้าลง
  • ปัสสาวะกะปริดกะปรอย
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือต้องรีบเข้าห้องน้ำเมื่อปวดปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • ปัสสาวะไม่สุด
  • มีความรู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • มีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
  • มีอาการปวดหลัง, ข้อสะโพก หรือ เชิงกรานตลอดเวลา
  • มีอาการเหนื่อย หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ หรือผิวหนังซีดจากภาวะเลือดจาง

ซึ่งภาวะหรือโรคอื่นก็อาจจะมีอาการแบบเดียวกันได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตแล้วกดท่อปัสสาวะทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กัน

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทำโดยการซักประวัติสุขภาพ, ตรวจร่างกายทั่วไป, การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมาก, การตรวจเลือดดูระดับ Prostate-specific antigen (PSA), การตรวจอัลตราซาวนด์ทางทวารหนัก, การตรวจด้วยเครื่อง MRI และการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนัก เพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อทีมการรักษาได้รับทราบข้อมูลทั้งหมดแล้วจึงจะมีการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันมะเร็งต่อมลูกหมากมีวิธีการรักษาหลายวิธีได้แก่

  1. การตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะยังไม่มีการรักษาจนกว่าผู้ป่วยมีอาการ หรือผลการตรวจผิดปกติเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่มีอาการจากโรคมะเร็ง หรือ มีโรคประจำตัวมาก หรือ ผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติจากการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
  2. การผ่าตัด – เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และโรคมะเร็งยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก โดยอาจจะมีผลข้างเคียงดังต่อไปนี้
  • อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ไม่ดี
  • ความยาวองคชาติจะลดลงจากการตัดท่อปัสสาวะออกไปบางส่วน
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อนในอนาคต
  1. การฉายรังสีหรือการฝังแร่ – เป็นการให้รังสีปริมาณสูงไปยังต่อมลูกหมาก ซึ่งทำได้โดยการฉายรังสีจากภายนอก หรือการฝังแร่กัมมันตรังสีเข้าไปยังต่อมลูกหมากโดยตรง โดยอาจจะมีผลข้างเคียงดังต่อไปนี้
  • อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
  • การปัสสาวะผิดปกติ เช่น กลั้นปัสสาวะได้ไม่ดี ปัสสาวะบ่อย
  1. การรักษาด้วยฮอร์โมน – เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นการลดระดับฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยา หรือการผ่าตัดอัณฑะออกก็จะช่วยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้
  • มีอาการร้อนวูบวาบ
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • กระดูกบางลง
  1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด – เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งยาเคมีบำบัดจะไปตามกระแสเลือดเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งทุกส่วนของร่างกาย

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกันได้ขึ้นกับหลายปัจจัยผู้ป่วยควรปรึกษาและสอบถามกับแพทย์เจ้าของไข้เพื่อร่วมกันพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ที่เว็บไซต์ www.chulacancer.net

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
อาคาร ภปร ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร 0-2256-4000