โรค มือ เท้า ปาก


โรค มือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง จากตัวผู้ป่วยหรือจากเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากที่มีความรุนแรงและมีการกล่าวถึงบ่อยคือ enterovirus 71 หรือเรียกย่อๆ ว่า EV 71 ซึ่งพบน้อยในประเทศไทย โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี เป็นโรคที่พบ อยู่เป็นประจำถิ่นในบ้านเราและมีการแพร่ระบาดเป็นครั้งคราวในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนชั้นอนุบาล และโรงเรียนชั้นประถม ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรค มือ เท้า ปาก น้อยมาก โรคนี้พบไม่บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กโตและผู้ใหญ่มักติดเชื้อดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วัยเด็กเล็ก โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย

อาการของโรค มือ เท้า ปาก

  • สำหรับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก อาการเริ่มต้นจะมีไข้เหมือนกับอาการไข้หวัดทั่วไป แต่จะมีอาการเจ็บ ในช่องปาก ตรวจพบตุ่มหรือแผลภายในช่องปาก มักตรวจพบตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าร่วมด้วย

หากมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง  มีอาการซึม มีอาการผิดปกติของการหายใจและการเต้นของหัวใจ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทาง สมอง ซึ่งได้แก่ ภาวะแกนสมองอักเสบ แม้จะพบได้น้อยมากแต่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

การดูแลรักษาผู้ป่วย

ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ทุกราย พ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นที่บ้านและที่โรงเรียนได้

โรคมือเท้าปากไม่มียาที่ใช้ในการรักษาจำเพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ด้วยการให้ยาลดไข้ ยารักษาหวัด และยาทาตุ่มในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บ ควรดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำเย็น อมน้ำแข็ง หรือกินไอศกรีม เพื่อในเกิดอาการชาในช่องปาก จะช่วยทำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้เพียงพอ ลดโอกาสในการต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดได้มาก

การป้องกัน

เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้มีการติดต่อจากผู้ป่วยไปยังเด็กคนอื่นได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มี วัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน การป้องกันที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงในการพาเด็กเล็กเข้าไปในที่ชุมชนโดย ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือโรงพยาบาล และหลีกเลี่ยงการส่งเด็กไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยอันควร

เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในสังคม ทำให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ และเฝ้าดูอาการเจ็บป่วยของเด็กเล็กโดยใกล้ชิด การตรวจสุขภาพของเด็กโดยการวัดไข้ และตรวจหา ตุ่มน้ำใสในช่องปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า การแยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่นหรือส่งกลับบ้านเป็นมาตรการสำคัญ ที่นำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

ผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ควรได้รับการแยกออกจากเด็กคนอื่น กรณีพบผู้ป่วยหลายๆคน ควรปิด สถานศึกษาชั่วคราวและควรทำความสะอาดห้องต่างๆ ภายในอาคาร   นอกจากนี้ควรรณรงค์ให้เด็กและ ผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็กล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังจากการ สัมผัสของเล่น เด็กที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ควรล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากากอนามัย  

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
แผนกผู้ป่วยนอก อาคาร ภปร ชั้น 1
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4000