สิวในเด็ก


สิวในเด็กพบได้ในช่วงสองอายุ คือ

  1. ในช่วงที่เป็นทารกแรกคลอดตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด อาจพบสูงได้ถึงร้อยละ 20 ของทารกแรกคลอดปกติ อีกช่วงอายุหนึ่งที่จะพบได้คือที่อายุ 3 ถึง 6 เดือน พบในเด็กผู้ชายได้มากกว่าในเด็กผู้หญิง
  2. สิวในช่วงเด็กวัยรุ่น พบบ่อยมาก โดยเริ่มพบได้ 1 ถึง 2 ปีก่อนที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งในปัจจุบันเด็กเข้าวัยรุ่นเร็วโดยเด็กผู้หญิงมักเข้าสู่วัยรุ่นในช่วง 12 ถึง 13 ปี จึงพบสิวได้ตั้งแต่อายุ 10 ถึง 11 ปี ส่วนในเด็กผู้ชายเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นช้ากว่าเด็กผู้หญิง มักเข้าสู่วัยรุ่นในช่วงอายุ 14 ถึง 15 ปี จึงอาจพบสิวได้ในช่วงอายุ 12 ถึง 13 ปี

สาเหตุ

สิวในช่วงทารกแรกเกิด เกิดจากการกระตุ้นต่อมไขมันโดยฮอร์โมนของมารดาที่ผ่านมาทางรกหรือของทารกเองที่สร้างจากต่อมหมวกไตหรือลูกอัณฑะในเด็กผู้ชาย

ส่วน สิวในเด็กวัยรุ่น เกิดจากฮอร์โมนเพศ กระตุ้นต่อมไขมันให้สร้างไขมัน และชั้นหนังกำพร้าบริเวณท่อรูขุมขนมีความหนาตัวขึ้นและอุดตันทางออกของไขมัน เกิดเป็นสิว  ซึ่งถ้าทางออกที่ท่อรูขุมขนอุดตันไม่สนิทก็จะเป็นสิวหัวเปิด แต่ถ้าทางออกที่ท่อรูขุมขนอุดตันสนิทจะเป็นสิวหัวปิด และเมื่อมีแบคทีเรีย Propionibacterium acnes  ที่อาศัยอยู่ในต่อมไขมัน มีการเจริญเติบโตมากกว่าปกติ จะทำการย่อยไขมันได้สารที่ดึงดูดเม็ดเลือดขาวมาที่ท่อรูขุมขน ทำให้เกิดสิวอักเสบ

ปัจจัยที่ทำให้สิวกำเริบได้แก่ ภาวะเครียด เหงื่อออกมาก การแกะสิวมากเกินไป  การใช้เครื่องสำอางที่ทำให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมไขมัน หรือ การใช้ยาที่ทำให้เกิดสิวได้บ่อยได้แก่ steroid เป็นต้น สำหรับอาหารยังไม่มีการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะสรุปว่ามีผลต่อการเกิดสิว

อาการของโรค

สิวมีลักษณะเป็น ตุ่มนูนกลม เล็ก สีเดียวกับผิวหนังเรียกว่าสิวหัวปิด บางตุ่มอาจมีจุดดำอยู่ตรงกลาง เรียกว่าสิวหัวเปิด บางครั้งมีการอักเสบเป็นตุ่มหนอง ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ สิวมักจะอยู่บริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ได้แก่ หน้า คอ หน้าอกและส่วนบนของหลัง

วิธีการรักษา

เนื่องจากสิวเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศ มีการดำเนินโรคนาน การรักษาควรเน้นเรื่องความเข้าใจและการป้องกันไม่ให้เกิดสิวใหม่

  1. ความเข้าใจเกี่ยวกับสิว เป็นเรื่องสำคัญ

  • สิวในทารกไม่จำเป็นต้องรักษา จะหายไปได้เอง
  • สิวในวัยรุ่น ไม่ได้เกิดจากความสกปรก การล้างหน้าไม่ได้ทำให้สิวหาย การรักษาความสะอาดบนใบหน้าโดยใช้สบู่อ่อน เพียงพอแล้ว
  • ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิว เช่น การนวดหน้า ขัดหน้า การใช้เครื่องสำอางหรือน้ำมันใส่ผมที่เหนียวเป็นน้ำมันจะทำให้เป็นสิวมากขึ้น
  • การแกะสิวหรือการกดสิว เป็นเพียงแค่ทำให้สิวที่อยู่บนใบหน้าหายไป แต่ไม่ได้ทำให้การเกิดสิวลดลง และจะทำให้เกิดการอักเสบและมีโอกาสกลายเป็นแผลเป็นมากขึ้น
  1. การพิจารณาใช้ยา ขึ้นกับความรุนแรงและลักษณะของสิว

2.1 ถ้าเป็นสิวอักเสบเป็นไม่มาก อาจใช้ Benzoyl peroxide มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทาเช้า-เย็น มีข้อเสียคือ อาจทำให้เกิดการระคายเคือง

2.2 ถ้ามีสิวมาก ควรพบแพทย์ ในปัจจุบันมียาทาหลายตัวที่มีประสิทธิภาพดีมาก  การใช้ยาทามากกว่า 1 ชนิดร่วมกันได้ผลดี โดยมากนิยมให้ทา benzoyl peroxide ในตอนเช้าและทา tretinoin ก่อนนอน และควรทาทั้งหน้าเพื่อป้องกันสิวใหม่ที่จะเกิดขึ้น แพทย์อาจให้ยาทาปฏิชีวนะร่วมด้วยในกรณีที่มีสิวอักเสบ หรือถ้ามีอาการมากอาจให้ยารับประทานร่วมด้วย  ระยะเวลาในการรักษาสิว ต้องใช้เวลา 6-8 สัปดาห์จึงจะดีขึ้น และควรใช้ยาต่อเนื่องจนพ้นวัยที่เป็นสิว

สิ่งสำคัญคือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ถึง 7 ปีไม่ควรมีสิว ถ้าเด็กมีสิวในวัยนี้จำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อสืบหาสาเหตุของการเกิดสิว ซึ่งมักจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน

สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

แผนกกุมารเวชศาสตร์ คลินิกโรคผิวหนังเด็ก อาคาร ภปร ชั้น 9 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สอบถามรายละเอียด ขั้นตอนการเข้ารับบริการผู้ป่วยได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
อาคาร ภปร ชั้นล่าง
โทร 0-2256- 4000