เหตุใด ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณช่องปาก ศีรษะ และลำคอ ต้องมาพบทันตแพทย์ก่อนฉายรังสี


การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง บริเวณช่องปาก ศีรษะ และลำคอ ต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์สหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ อาทิ โสต ศอ นาสิก ศัลยกรรมตกแต่ง รังสีรักษา รวมถึงทันตแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก หรือเรียกว่าเป็นการ “เตรียมสภาวะช่องปาก” ให้พร้อมก่อนการรักษาด้วยการฉายรังสีเพื่อป้องกันและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาภายหลัง

Q: ภาวะแทรกซ้อนหลักๆ จากการฉายรังสีบริเวณช่องปาก ศีรษะและลำคอมีอะไรบ้าง?
A: ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ (Oral mucositis) ภาวะปากแห้ง (Xerostomia) ภาวะขากรรไกรยึด (Trismus) ภาวะกระดูกขากรรไกรตายจากการรับรังสีรักษา(Osteoradionecrosis of the jaws; ORN)

Q: ทันตแพทย์ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณช่องปาก ศีรษะและลำคอ อย่างไร?
A: การ “เตรียมสภาวะช่องปาก” ให้เรียบร้อยก่อนฉายรังสี ทันตแพทย์จะทำการตรวจรักษาอุดฟัน ขูดหินปูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถอนฟันและการทำศัลยกรรมในช่องปากให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มฉายรังสี


Q: ฟันลักษณะใดที่ต้องถอนออก? และทำไมต้องถอนฟันเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มฉายแสง?
A: ฟันที่ผุลึกถึงโพรงประสาทฟันโดยรอบ ฟันโยก เหงือกร่นมากไม่สามารถบูรณะรักษาไว้ได้ รวมทั้งฟันที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับรังสีปริมาณมากกว่า 50 Gy อาจพิจารณาถอนฟันร่วมกับตัดแต่งกระดูกให้เรียบร้อย และรอให้มีการสร้างเนื้อเยื่อเหงือกปกคลุมกระดูกเบ้าฟันไว้มากพอ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หากดำเนินการไม่ทันและผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉายรังสีไปก่อน รังสีที่ได้รับจะส่งผลกระทบต่อเซลล์เยื่อบุผิวและเซลล์สร้างกระดูก ส่งผลให้เนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เกิดลักษณะแผลถอนฟันไม่หาย เรียก ภาวะกระดูกขากรรไกรตายจากการรับรังสีรักษา (Osteoradionecrosis of the jaws; ORN)

Q: แนวทางการป้องกันรักษาภาวะแทรกซ้อนในช่องปากจากการฉายรังสีมีอะไรบ้าง?
A:
– ผู้ป่วยต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้สะอาดอย่างมีคุณภาพ ครบทุกด้านของฟันและทุกซี่ อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้งผู้ป่วยต้องมาตามนัดหมายของทันตแพทย์เพื่อติดตามอาการในช่องปากอย่างต่อเนื่องหลังจากเริ่มฉายรังสีไปแล้ว เพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
– แนะนำให้ผู้ป่วยจิบน􀄞้ำเปล่าบ่อยๆ ตลอดวัน หรือใช้น้ำลายเทียม และใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ร่วมด้วย เพื่อลดอัตราการเกิดฟันผุลุกลามจากภาวะน้ำลายน้อย
– รับประทานอาหารอ่อนที่มีประโยชน์ รสไม่จัดหรือร้อนเกินไป เพื่อลดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ
– หมั่นฝึกอ้าปาก ยืดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวบริเวณใบหน้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อป้องกันการอ้าปากได้น้อย ขากรรไกรยึด ซึ่งจะส่งผลต่อการรับประทานอาหาร รวมถึง
– การเข้าดูแลทำความสะอาดช่องปาก
– กรณีตรวจพบว่ามีกระดูกขากรรไกรโผล่ในช่องปาก ทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ช่องปากอาจพิจารณาขูดกำจัดกระดูกตายด้วยวิธีและเครื่องมือทางทันตกรรมที่มีความกระทบกระเทือนน้อย (Atraumatic Technique) และติดตามการหายเป็นปกติของเนื้อเยื่อรอบๆ จนปกคลุมกระดูกได้ทั้งหมด สำหรับในรายที่มีการลุกลามมาก อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดขากรรไกรบางส่วนออกและบูรณะด้วยกระดูกที่มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทดแทน

นอกจากนี้ การเลือกใช้เทคนิคการฉายรังสีแบบ 3 มิติขั้นสูง (IMRT) มีการคำนวณปรับความเข้มของรังสีให้บริเวณที่เป็นอวัยวะปกติข้างเคียงได้รับปริมาณรังสีต่ำกว่าปกติ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนลงได้ค่อนข้างมากซึ่งเป็นเทคนิคที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ใช้อยู่ในปัจจุบัน