ล้างมือบ่อยครั้ง หยุดยั้งเชื้อโรค
ปัจจุบันการล้างมือนับเป็นหนึ่งในมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และมีความสำคัญมาก เนื่องจากพบว่ามีโรคต่างๆมากมายที่แพร่กระจายได้จากการไม่ล้างมือ ตัวอย่างเช่น
-
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ฯลฯ ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป และติดต่อจากการสัมผัสสิ่งของ สิ่งคัดหลั่ง(น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ) ของผู้ป่วย
-
โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร
เช่น ท้องร่วง อหิวาตกโรค ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ พยาธิชนิดต่างๆฯลฯ ติดต่อโดยมือปนเปื้อนเชื้อแล้วหยิบอาหารใส่ปาก
-
โรคติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง
เช่น โรคตาแดง เชื้อรา หิด ฯลฯ ติดต่อโดยมือไปสัมผัสแผล สารคัดหลั่งแล้วมาสัมผัสกับส่วนต่างๆของร่างกาย
เมื่อไหร่ที่เราควรล้างมือ
- ก่อน, ขณะ, และหลังเตรียมอาหาร
- ก่อนรับประทานอาหาร
- ก่อน และหลังการดูแลผู้ป่วย
- ก่อน และหลังการทำแผล
- ภายหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ภายหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ
- ภายหลังการไอ จาม สั่งน้ำมูก
- ภายหลังการสัมผัสสัตว์ การให้อาหารสัตว์ และการเก็บมูลสัตว์
- ภายหลังการสัมผัสขยะ
ขั้นตอนการล้างมือ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
- ล้างมือด้วยน้ำสะอาด(ควรเป็นน้ำไหลผ่านเช่นน้ำก็อก)
- ฟอกมือด้วยสบู่ โดยฟอกสบู่ให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ง่ามนิ้วมือ ซอกเล็บ และข้อมือทั้งสองข้าง
- ควรใช้เวลาในการฟอกมือด้วยสบู่ ไม่ต่ำกว่า 20 วินาที
- ล้างมือด้วยน้ำสะอาด
- เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
ในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่กับน้ำได้ควรทำอย่างไร
เป็นที่ยอมรับว่าการล้างมือด้วยสบู่กับน้ำยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดปริมาณเชื้อโรค แต่ในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่กับน้ำได้ การเลือกใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนถือเป็นอีกวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยควรเลือกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 60% อย่างไรก็ดีควรระลึกว่าการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลนั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ทั้งหมด รวมถึงไม่สามารถล้างสารเคมีบางอย่างได้
วิธีการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
- เทเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บนฝ่ามือข้างหนึ่ง (ปริมาณการใช้ขึ้นกับคำแนะนำของผู้ผลิต)
- ถูมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน
- ถูให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือกระจายไปทุกพื้นผิวสัมผัสของมือทั้งสองข้างและนิ้วทุกนิ้วจนรู้สึกว่ามือแห้ง