โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นภาวะที่สมองสูญเสียการทำงานบางส่วนอย่างเฉียบพลันจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือจากหลอดเลือดสมองแตก ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย อาการแสดงและความรุนแรง ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และขนาดของเนื้อสมองที่สูญเสียการทำงาน พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากการพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี
โรคหลอดเลือดสมอง มี 2 ชนิด คือ
1.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของคราบไขมันหินปูนที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน หรือเกิดจากมีลิ่มเลือดจากหัวใจหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน
2. โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือเลือดออกในสมอง พบได้ประมาณร้อยละ 30 เกิดจากภาวะต่างๆ ที่ทำให้หลอดเลือดโป่งพองหรือเปราะ เมื่อมีหลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในเนื้อสมองหรือชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง และเลือดที่ออกไปเบียดกดเนื้อสมอง มีผลทำให้สมองบางส่วนสูญเสียการทำงานเฉียบพลันได้
ใครที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองบ้าง ?
ทุก ๆ คน มีโอกาสเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง มีโอกาสสูงกว่าคนปกติทั่วไป ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- สูงอายุ
- ความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- สูบบุหรี่
- ไขมันในเลือดสูง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ Atrial fibrillation (AF) หรือหัวใจขาดเลือด
- ภาวะอ้วนหรือขาดการออกกำลังกาย
- ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
- ญาติสายตรง (พ่อ แม่/หรือพี่น้อง) เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง
อาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง
อาการแสดงของโรคนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และเป็นทันทีทันใด อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปากเบี้ยว
- พูดผิดปกติ
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
- เวียนศีรษะและเดินเซ
อย่างไรก็ตาม มีอาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น
– ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็น หรือมองเห็น ครึ่งซีกของลานสายตา หรือเห็นภาพซ้อน
– ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
– ชาครึ่งซีก
– หมดสติ
วิธีการรักษา
1.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
ทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี
การให้ยาละลายลิ่มเลือด (rt-PA) ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง และรีบมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง
การใช้อุปกรณ์พิเศษ ดึงลากลิ่มเลือดออกจากสมอง (Thrombectomy)
การให้ยากลุ่มต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, ยาลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
2. โรคหลอดเลือดสมองแตก
การรักษา คือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม หรือให้ยาแก้ไขภาวะเลือดออกง่าย ในกรณีที่เลือดออกปริมาณมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อลดความเสียหายต่อสมอง และรักษาชีวิตผู้ป่วย
ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการอ่อนแรง หรือผิดปกติหลังออกจากโรงพยาบาล ควรได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาปกติโดยเร็วไว และป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
การป้องกัน สามารถทำได้ดังนี้
- ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ถ้าพบต้องรีบรักษา
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยความดันโลหิตไม่ให้เกิน 140/90 มม.ปรอท.
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีไขมันสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 – 40 นาทีต่อวัน, 3 -5 ครั้งต่อสัปดาห์
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
- ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วควรพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการผิดปกติ และรับประทานยาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง และป้องกันการกลับเป็นซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดรับประทานยาเองแม้ไม่มีอาการแสดงใด ๆ
ถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็น โรคหลอดเลือดสมอง ไม่ควรรอดูอาการ ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4655