ภาวะเครียด
ความเครียดนั้น มีสาเหตุทั้งจากความคิดของตนเอง และจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยสามารถ แบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1. ความกดดันจากสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น มลภาวะ เสียงดังเกินไป อากาศที่ร้อนจัด สถานที่ที่วุ่นวายสับสน
อยู่ท่ามกลางความรุนแรงหรือสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย
2. ความขาดจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่น่าพอใจ เช่น รายได้น้อยกว่ารายจ่าย กดดันหรือเครียดเรื่องเงิน ที่จำเป็นต้องใช้ด่วน ทำให้รู้สึกไม่มั่นคง
3. ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆที่ไม่ราบรื่น ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือถูกเอาเปรียบ
4. ความรู้สึกตนเองต่ำต้อย มองโลกอย่างเปรียบเทียบ ต้องพยายามพิสูจน์คุณค่า
5. ไม่มีทางเลือกที่ลงตัวในชีวิต เช่น ต้องรับผิดชอบเรื่องที่ไม่ได้อยากทำ ทำไปก็ไม่มีความสุข ไม่ทำก็ผิด
6. มีปัญหาสุขภาพรุมเร้า มีโรคเรื้อรัง สร้างความทรมานและจำกัดการใช้ชีวิต
ผลของความเครียดต่อชีวิต
ผลต่อสุขภาพทางกาย ได้แก่ อาการไม่สบายทางกายต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ
ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นปัจจัยกระตุ้นต่อโรคอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อย ๆ การนอน หรือทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ผลต่อสุขภาพจิต นำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย หรือโรคประสาทบางอย่าง
นอกจากนี้ความเครียดส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ย่อมส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน สัมพันธภาพต่อครอบครัวและบุคคลแวดล้อมอีกด้วย
วิธีจัดการกับความเครียด
– หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายจิตใจและพฤติกรรมที่เกิดจากความเครียด รู้ทันเวลาตัวเองเครียด
– หาเวลาว่างให้กับตนเอง ลดการเบียดเบียนตัวเอง เปิดโอกาสให้มีเวลาเพื่อตัวเอง
– ดูแลตนเอง ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่คุ้นเคย เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกการหายใจ การทำสมาธิ
– จัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่บ้านและที่ทำงานที่พึงประสงค์ เพื่อลดสิ่งกระตุ้น
– นึกถึงกิจกรรมที่ให้ความสุขและลงมือทำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ท่องเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อน
-ปรึกษาผู้อื่นที่วางใจได้ ให้ระบายความทุกข์ในใจ มีคนร่วมรับรู้และได้รับความเห็นอกเห็นใจ
-ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม เช่น กิจกรรมจิตอาสา หรือลงเรียนสิ่งใหม่ ๆ ต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่า
สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
คลินิกจิตเวช อาคาร ภปร ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สอบถามรายละเอียด ขั้นตอนการเข้ารับบริการผู้ป่วย ได้ที่ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
อาคาร ภปร ชั้นล่าง โทร 0-2256-5487