Recreational Drugs Use ความบันเทิงที่อาจถึงแก่ชีวิต

บอกเล่า ก้าวทันหมอ

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้เห็นข่าวความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ชีวิต หรือแม้กระทั่งทรัพย์สิน จากการใช้สารเสพติดตามสถานบันเทิงในหมู่วัยรุ่นและนักท่องเที่ยวในสื่อต่างๆนอกจากการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังมีการใช้ฤทธิ์ของยาควบคุมบางประเภทแบบผิดวัตถุประสงค์จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดตามมาอีกด้วย คอลัมน์ “บอกเล่าก้าวทันหมอ” ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านมาพูดคุยกับ รศ.นพ.ครองวงศ์ มุสิกถาวร หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ถึงประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ยาและสารเสพติดเพื่อความบันเทิงในยุคปัจจุบัน รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงและการช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ได้รับสารดังกล่าวโดยไม่ทันตั้งตัว

การใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิง หรือ Recreational Drugs Use นั้น รศ.นพ.ครองวงศ์ อธิบายว่า เป็นการใช้สารเสพติดหรือยาบางชนิดเพียงครั้งคราวเท่านั้น อาจจะไม่ได้เสพติดเป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็มีโทษร้ายแรงต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ใช้บางส่วนอาจมีการใช้ยาเหล่านี้ในขนาดที่ก่อให้เกิดอันตรายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยความคึกคะนอง หรืออยากให้ยาออกฤทธิ์ให้ตัวเองหรือผู้อื่นเกิดความสนุกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังอาจมีการใช้ยาหรือสารอื่นๆ หลายชนิดพร้อมกันและเสริมฤทธิ์กันโดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของยาแต่ละชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยเหตุเพราะผู้ใช้ต้องการให้ยาออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วตามที่ต้องการนั่นเอง หากจะจำแนกประเภทของการใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงตามการออกฤทธิ์ของยาอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1) กลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้น
กลุ่มนี้จะนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดอารมณ์สนุกสนาน คึกคัก ฮึกเหิม มีความกล้าและมีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น สารเสพติดกลุ่มนี้ได้แก่ เคตามีน (Ketamine) / ยาเค, แอมเฟตามีน(Amphetamine) / ยาบ้า / ยาม้า, Methylenedioxymethamphetamine (MDMA) / ยาอี,Methamphetamine / ยาไอซ์, กัญชาและกัญชาสังเคราะห์, LySergic acid Diethylamide(LSD) / แอลเอสดี เป็นต้น กลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อสมอง หลอดเลือดและหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ชีพจรเต้นเร็ว รู้สึกเร่าร้อน เห็นภาพหลอน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินอาจทำให้กล้ามเนื้อสลาย ไตวายและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

2) กลุ่มออกฤทธิ์ง่วงซึม”ยามอม”
อาจนำมาใช้เพื่อการก่ออาชญากรรม เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ การรูดทรัพย์ เป็นต้น ตัวอย่างของสารเสพติดกลุ่มนี้ ได้แก่ Benzodiazepines หรือยานอนหลับซึ่งเป็นยาทางจิตเวชที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น, Gamma-Hydroxybutyric (GHB) หรือที่เรียกกันในหมู่วัยรุ่นว่า ยาเสียสาว เป็นต้น กลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนงง ไม่มีแรง ง่วงซึม กระทั่งหลับไม่รู้สติ ไม่สามารถควบคุมช่วยเหลือตัวเองได้ อีกทั้งยังออกฤทธิ์กดระบบการหายใจและหลอดเลือด จนกระทั่งเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้สูญเสียความทรงจำในขณะเกิดเหตุ แม้จะรู้สึกตัวแล้วก็ไม่สามารถจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้

ในปัจจุบัน ยาหรือสารเสพติดหลายประเภทอยู่ในรูปแบบที่ผู้เสพหรือได้รับยาเข้าไป อาจไม่ได้มีความระแวงสงสัย เนื่องจาก อาจอยู่ในรูปของเหลวใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส สารบางชนิดอาจสลายตัวหรือเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้เร็วมากภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้การตรวจพิสูจน์สารทำได้ยาก เมื่อเวลาเกิดเหตุผ่านไป ดังนั้นประชาชนทุกเพศทุกวัยควรรู้วิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงต่อการได้รับสารดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือจากการล่วงละเมิดทางเพศ นั่นคือ

ไม่ควรพาตัวเองเข้าไปสู่พื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่เที่ยวกลางคืน สถานที่พักของคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่สนิท เป็นต้น
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานบันเทิงตามลำพัง ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้อยู่ด้วย
ไม่ควรดื่มหรือรับประทานของจากคนแปลกหน้า
> ไม่ควรละสายตาจากเครื่องดื่มของตนเอง
ไม่ควรดื่มอย่างรวดเร็ว
ดื่มอย่างมีสติอยู่เสมอ ประเมินสถานการณ์รอบข้าง ถ้ามีความเสี่ยง
ควรพาตัวเองออกมาจากสถานที่นั้นทันที

ทั้งนี้ รศ.นพ.ครองวงศ์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ได้รับยาหรือสารเสพติดดังกล่าวโดยไม่ทันตั้งตัวว่า เมื่อเริ่มรู้สึกได้ว่าร่างกายมีอาการผิดปกติ ให้รีบบอกเพื่อนหรือคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้เพื่อให้พาออกจากสถานที่นั้นทันที หรือหากพบเห็นผู้ที่สงสัยว่าได้รับสารดังกล่าวอยู่ในภาวะหมดสติ ถ้าบุคคลนั้นยังสามารถหายใจได้อยู่ ให้ดูแลระบบหายใจโดยประคองศีรษะด้วยการแหงนหน้าเชยคาง ถ้ามีอาเจียนให้ตะแคงหน้าผู้ป่วยไปด้านข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้สำลัก หลังจากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลหรือแจ้งศูนย์ช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที