
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริม
สุขภาพบุคลากร
Occupational Health and Health Promotion
ดูแลห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัย
ในการทำงานของบุคลากร
ปี พ.ศ. 2553 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้ก่อตั้งศูนย์สร้างเสริมสุขภาพขึ้น เพื่อให้บริการสถานที่และอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย (Wellness Center อปร ชั้น 6) พร้อมทั้งจัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรภายในโรงพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์ ให้ห่างไกลจากโรค NCDs ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2557 สภากาชาดไทยได้อนุมัติให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จัดตั้งศูนย์อาชีวอนามัยขึ้น เพื่อรับผิดชอบภาระงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยนำหลักการด้านอาชีวสุขศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับอาชีวเวชศาสตร์บางส่วนให้สอสคล้องกับบริบทของโรงพยาบาล เน้นการเฝ้าระวัง การค้นหาและป้องกันความเสี่ยงด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพ และการยศาสตร์
และในปี พ.ศ. 2562 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน โดยให้รวมหน่วยงานศูนย์อาชีวอนามัยและศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการทำงานในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรเหมือนกัน รวมให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน ภายใต้ชื่อ ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร โดยมีนางสมพิศ เสี่ยงบุญ ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์อาชีวอนามัยเดิม ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์




เจตจำนง
เป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในโรงพยาบาล รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับประเทศ
ภาระหน้าที่
- ส่งเสริม ดำรงไว้ ป้องกันและคุ้มครองสุขภาพของบุคลากรให้ปลอดภัยจากโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน รวมถึงโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs
- เฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย โดยการสำรวจสภาพแวดล้อม และประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยใช้เครื่องมือทางอาชีวสุขศาสตร์ชนิดต่าง ๆ
- สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ มีความรู้ความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร (ศอส) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มี นางสมพิศ เสี่ยงบุญ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ และมีบุคลากรอื่น ๆ ได้แก่
- พยาบาล
- นักอาชีวอนามัย/จป.
- นักสุขศึกษา
- เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
การให้บริการของศูนย์
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร มุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพบุคลากรให้มีสุขภาพดีปลอดภัยจากโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยครอบคลุม 2 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านสุขภาพของบุคลากร (Health)
- การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของบุคลากร
ตรวจหาภูมิคุ้มกันและฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อาจเกิดจากการทำงานสำหรับบุคลากรกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วยวัคซีน 6 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A), วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B), วัคซีนป้องกันโรคไวรัสสุกใส (Varicella), วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR), วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza ตามฤดูกาล)
- การติดตามผลตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงของบุคลากร
เป็นการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของบุคลากรอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากเป็นบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง จะได้รับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiogram), การตรวจสมรรถภาพการมองเห็น (Occupation Vision Test), การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) การทำงานของตับ-ไต การตรวจสารปรอทในปัสสาวะ และสารตะกั่วในเลือด หากผลตรวจผิดปกติ จะมีการส่งต่อเพื่อตรวจรักษาต่อไป
- การสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากร
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการมีสุขภาพดีของบุคลากรและหน่วยงานย่อยในองค์กร ผ่านการสื่อสารแบบ mass communication ตามหลักของการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างนโยบายสาธารณะ การเสริมสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ให้ครอบคลุมมิติสุขภาพ ทางกายและจิตใจ พร้อมกับการ ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable disease : NCDs) โดยใช้องค์ความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการ กิจกรรมทางกาย และการออกกำลังกายเป็นสำคัญ
2. ด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Safety & Environment)
- การสนับสนุนการสำรวจความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขั้นต้น (Walkthrough Survey)
เป็นการค้นหาสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคลากรในการทำงาน ทั้งทางด้ายกายภาพ เคมี ชีวภาพ การยศาสตร์ และอัคคีภัย เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน
- การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยเครื่องมือทางอาชีวสุขศาสตร์ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีการตรวจวัดทั้งทางด้านกายภาพ เช่น แสง เสียง ความร้อน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และด้านเคมีชีวภาพ เช่น CO2, CO, O3, PM10, PM2.5, ความเข้มข้นของสารเคมี, อัตราการหมุนเวียนอากาศ, แบคทีเรีย และเชื้อรา เป็นต้น
- การสร้างเสริมความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
จัดอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและสามารถนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน (จป.หัวหน้างาน), หลักสูตรอนุรักษ์การได้ยินให้แก่บุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ที่มีเสียงดัง, หลักสูตรการทำงานให้ปลอดภัยด้วยหลักการยศาสตร์ และอบรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น
ในด้านการบริการด้านความปลอดภัยในการทำงานให้แก่บุคลากร ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร สามารถดูแลครอบคลุมทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัด ดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรกลุ่มเสี่ยงได้ตามมาตรฐานคำแนะนำ และเป็นหน่วยงานแรกที่ลงสำรวจความปลอดภัยและตรวจวัดสภาพแวดล้อมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัยได้อย่างทันต่อสถานการณ์
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากรได้รับเกียรติบัตร แสดงว่าเป็นองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสุขภาพดี โดยเข้าร่วมโครงการทำความดีเข้าพรรษา ลดน้ำหนักสร้างสุขภาพดีวิถีชีวิตไทย ประจำปี 2555 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ Certificate of Appreciation presented to Health Promotion Center of King Chulalongkorn Memorial Hospital for outstanding volunteer service to The 2019 IYF World Culture Camp Thailand, 2019


วัน เวลา และสถานที่ให้บริการ
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ อาคาร ส.ธ. ชั้น 17
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ศูนย์อาชีวอนามัยและสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร
อาคาร ส.ธ. ชั้น 17
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 5020
02 256 4000 ต่อ 3540 หรือ 71701
โทรสาร
02 256 5017
เฟซบุ๊กหน่วยงาน
อีเมลหน่วยงาน
Ohc.kcmh@gmail.com