โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย MOU ร่วมมือกับ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) สร้างเขตบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรเพื่อประชาชน

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กับ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างเขตการบริการทางการแพทย์แบบครบวงจร และที่พักเชิงสุขภาพ (Comprehensive Medical Corridor) โดยมีคณะผู้บริหารเข้าร่วมงาน ณ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างเขตการบริการทางการแพทย์แบบครบวงจร และที่พักเชิงสุขภาพ (Comprehensive Medical Corridor) ในเขตกลางกรุงเทพมหานคร เป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสององค์กร ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อประโยชน์สำหรับประชาชน


นอกจากจุดแข็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นสถาบันการแพทย์ที่ให้บริการด้านสาธารณสุขและการพยาบาลที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านการวิจัยและการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวล้ำทันสมัย มีมาตรฐานสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงพยาบาล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ดุสิตธานีฯ ที่ได้นำจุดแข็งขององค์กรทั้งในด้านการบริหารจัดการโรงแรมและโครงการที่พักอาศัยที่เปิดให้บริการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจุดแข็งของธุรกิจทางด้านอาหารและโรงเรียนสอนทำอาหาร นำมาบูรณาการร่วมกับทางโรงพยาบาล ซึ่งการผสานจุดแข็งของทั้งสององค์กรในครั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดและเป็นทางเลือกต่อผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และดุสิตธานีตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร (CBD) จึงทำให้ประชาชนสะดวกในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการใช้บริการที่พักอาศัยชั่วคราว การผนึกกำลังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรชั้นนำในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงของทั้งโรงพยาบาลและที่พัก จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลอย่างครบวงจร


ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายไม่จำเป็นต้องนอนรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล แต่ไม่สะดวกต่อการเดินทางไปกลับเพื่อมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาล ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์และช่วยตอบโจทย์ความต้องการสำคัญของผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องการพักอาศัยชั่วคราวในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

  1. ผู้ป่วยที่ต้องเตรียมลำไส้ก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ – โดยการเตรียมตัวผู้ป่วยนั้น ต้องทานยาถ่ายเพื่อล้างลำไส้ก่อนการตรวจ มักจะต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้งในคืนก่อนวันตรวจ และต้องมาถึงโรงพยาบาลในตอนเช้า การมีที่พักใกล้โรงพยาบาลจะช่วยลดความเครียดและความไม่สะดวกในการเดินทาง
  2. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด – โดยเป็นผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องมีนัดตรวจติดตามในเร็ววัน การพักใกล้โรงพยาบาลจะช่วยให้การติดตามผลการรักษาสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เดินทางกลับต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเป็นเรื่องที่ไม่สะดวก
  3. ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง – ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉายรังสีซึ่งใช้เวลาต่อเนื่อง 2-7 สัปดาห์ การมีที่พักใกล้โรงพยาบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างสะดวกและมีความสุขมากขึ้น โดยไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการเดินทาง
  4. ผู้ป่วยที่ต้องรับการทดสอบการนอนหลับ หรือ sleep test ฯลฯ

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายสนับสนุนบริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยดังกล่าวยังเป็นกลุ่มที่มีความต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยหลังผ่าตัดมักต้องการอาหารโปรตีนสูง, ผู้ป่วยที่ต้องเตรียมลำไส้ มีประเภทอาหารที่ทานได้อย่างจำกัด ในช่วง 1-2 วันก่อนทำการตรวจส่องกล้อง จึงอาจมีความยุ่งยากในการจัดหาอาหาร และ/หรือการคำนวณปริมาณอาหารที่เหมาะสมทางโภชนาการ ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันพัฒนาเมนูอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามความต้องการเฉพาะของผู้ป่วย


การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดเขตการบริการทางการแพทย์ที่ครบวงจร โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว:

  1. ที่พักเชิงสุขภาพ: การให้บริการที่พักที่สะดวกสบายจากโรงแรมชั้นนำในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถพักฟื้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูและลดความตึงเครียด
  2. การพัฒนาคุณภาพอาหาร: การร่วมมือระหว่างฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเชฟจาก The Food School (เดอะ ฟู้ด สคูล)จะพัฒนาเมนูอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามความต้องการเฉพาะของผู้ป่วย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสูตรอาหารที่เริ่มพัฒนาแล้ว ได้แก่ อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานและโปรตีนสูง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ในอนาคตมีแผนพัฒนาเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  3. การบริการและการฝึกอบรม: ดุสิตธานีจะนำเสนอวิธีการบริการระดับห้าดาวและการฝึกอบรมบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อยกระดับการต้อนรับและบริการให้มีคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด ในการร่วมพัฒนาเมนูและการตกแต่งอาหารสำหรับให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่วนของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ร่วมพัฒนาความสามารถของบุคลากรดุสิตธานี โดยการฝึกอบรมการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน และการจัดเตรียมความพร้อมด้าน emergency response สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการ
    ทางด้าน นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มดุสิตธานีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และขอขอบคุณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ไว้วางใจให้กลุ่มดุสิตธานีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายขอบเขตการให้บริการทางการแพทย์แบบครบวงจรและที่พักเชิงสุขภาพ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว กลุ่มดุสิตธานีมั่นใจว่า จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านบริการที่พักและอาหาร มาผสมผสานกับความเชี่ยวชาญด้านบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้เข้ารับบริการ
    สำหรับขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ ในเบื้องต้นจะอยู่ภายใต้การดูแลและให้บริการโดย “โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เข้ารับบริการสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และโรงแรมมีความพร้อมด้านการรับรองผู้พำนักระยะยาว ซึ่งผู้เข้ารับบริการจะได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นและเป็นเลิศภายใต้มาตรฐาน “ดุสิตธานี” ขณะเดียวกัน ความร่วมมือดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการพัฒนาสูตรอาหารโดยเน้นโภชนาการ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มดุสิตธานีโดย “เดอะ ฟู้ด สคูล” จะได้เรียนรู้และพัฒนาสูตรอาหารจากนักโภชนาบำบัด เพื่อนำเสนออาหารรสชาติอร่อยและเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะกับผู้เข้ารับการรักษา รวมถึงลูกค้าที่เข้ารับบริการ

“ความร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของกลุ่มดุสิตธานีในการขยายธุรกิจด้าน “ฮอสพิทอลลิตี้ เซอร์วิสเซส” ซึ่งที่ผ่านมาเราวางแผนที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจนี้อยู่แล้ว แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สอดรับกับกลยุทธ์ระยะยาวในการดำเนินงานของกลุ่มดุสิตธานีที่ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ ขยายการเติบโต กระจายการลงทุน และสร้างสมดุล ที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่กลุ่มดุสิตธานีจะได้เรียนรู้โมเดลการบริการด้านสุขภาพ ทั้งบริการทางการแพทย์ครบวงจร ที่พักเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ จากผู้ให้บริการทางการแพทย์ชั้นนำ ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มดุสิตธานีจะสามารถมานำต่อยอดในการขยายธุรกิจและการให้บริการ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรได้อย่างดีเยี่ยม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว