ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการ
บนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
Princess Sirindhorn Craniofacial Center
แก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ
โดยทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างครบวงจร และมีคุณภาพเทียบเท่าสากล
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ กุมารแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ จักษุแพทย์ แพทย์โสต ศอ นาสิก วิสัญญีแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน จิตแพทย์ นักอรรถบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาล จัดตั้งเป็น “คณะทำงานแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” มาร่วมกันทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ เป็นพิเศษ เริ่มดำเนินงานด้านการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ
ในปี พ.ศ. 2544 “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา และต่อมาในปี พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ และทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ในปี พ.ศ. 2552
ผลงานที่ภาคภูมิใจของศูนย์
ผลงานของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่ผ่านมามีมากมาย อาทิ
- ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นแหล่งรับส่งต่อผู้ป่วยแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุด มีผู้ป่วยส่งต่อมาจากสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ องค์กรการกุศลต่าง ๆ สื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งสำนักพระราชวัง ซึ่งจะส่งต่อคนไข้ที่แพทย์ตามเสด็จไปพบ เช่น ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ และจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม, เขมร, ลาว ฯลฯ
- ดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะหลากหลายประเภทมากกว่า 3,000 ราย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศและต่างประเทศ
- เป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้แบบครบวงจร ทั้งทางกาย ใจ และสังคม ดั่งสมาชิกในครอบครัว มีกิจกรรมต้นแบบหลาย ๆ อย่างที่ดำเนินการเป็นแห่งแรก อาทิ โครงการชีวิตินี้ยังมีหวัง craniofacial support group โครงการเกษตรเติมฝัน โครงการผู้ป่วยอิ่มท้อง เราอิ่มใจ กิจกรรมสนุกสุขสันต์วันพบปะ โครงการคลินิกเคลื่อนที่ โครงการหนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต ฯลฯ
- เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโรคงวงช้าง (frontoethmoidal encephalomeningocele) ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก มีเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขความพิการในโรคงวงช้างโดยวิธี “จุฬาเทคนิค” ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลมหิดล บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยประจำปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักดี และถูกนำไปใช้ทั่วโลก
- เป็นผู้นำในการนำเอาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ในสาขานี้ มาใช้ในประเทศ เช่น อุปกรณ์เพิ่มขนาดกระดูกใบหน้า (distractor) การทดแทนกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะด้วยกระดูกเทียมที่ออกแบบโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย (customized implant) โดยเทคโนโลยีการสร้างต้นแบบทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว (rapid prototyping) วัสดุยึดเชื่อมกระดูกแบบละลายได้ (resorbable plates & screws) การวางแผนผ่าตัดด้วยระบบคอมพิวเตอร์และต้นแบบเสมือนจริง (simulation surgery)
- บุคลากรของศูนย์ฯ ได้รับเกียรติเป็นกองบรรณาธิการวารสารการแพทย์ระดับนานาชาติหลายฉบับ
- บุคลากรของศูนย์ฯ มีบทบาทต่าง ๆ ในสมาคมในระดับนานาชาติหลายสมาคม เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการบริหารสมาคมระดับภูมิภาค คือ Asian-Pacific Craniofacial Association จนถึงปี พ.ศ. 2552 รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ เป็นกรรมการบริหารสมาคมระดับภูมิภาค คือ Asian-Pacific Craniofacial Association ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ เป็นกรรมการบริหาร (Council Member) ของสมาคมระดับนานาชาติ คือ International Society of Craniofacial Surgery (มิถุนายน 2544 – ปัจจุบัน) ซึ่งก่อตั้งโดยศัลยแพทย์ผู้เป็นบิดาแห่งวงการ Craniofacial Surgery คือ Prof. Dr. Paul Tessier แห่งประเทศฝรั่งเศส (เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสมาคมนี้)
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ และรศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ เป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ เป็นท่านแรก
ส่วนรศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ เป็นกรรมการบริหารตั้งแต่ชุดแรก ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวาระ 2562 – 2564 - แพทย์หญิงชุติมา จิรภิญโญ เป็น associate member ของ Asian – Pacific Craniofacial Association
เจตจำนง
- เป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างครบวงจรและมีคุณภาพเทียบเท่าสากล
- มีความเป็นเลิศด้านวิชาการในการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ (craniofacial surgery)
- เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในสาขาการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ
ภาระหน้าที่
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มุ่งรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมด้วยมาตรฐานสูงสุดทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง ทั้งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลในภูมิภาคใกล้บ้านผู้ป่วย ที่สำคัญผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และไม่ถูกจำกัดด้วยระบบสุขภาพใด ๆ
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ
มหาทุมะรัตน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ มี รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าศูนย์ฯ และบุคลากรอื่น ๆ ได้แก่
- ศัลยแพทย์ตกแต่ง
- นักอรรถบำบัด
- นักจิตวิทยา
- พยาบาลวิชาชีพ
- ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ
- เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์
หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
การให้บริการของศูนย์
สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะที่ต้องเข้ารับการรักษา สามารถติดต่อผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดหรือติดต่อศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะได้โดยตรง
การดูแลทางด้านร่างกาย
การให้บริการแบบผู้ป่วยนอก
- การตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (พื้นที่กรุงเทพมหานคร)
การให้บริการผู้ป่วยนอกของทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ถือเป็นต้นแบบของคลินิกเฉพาะทางด้านการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาร่วมกันตรวจดูแลผู้ป่วย มีระบบฐานข้อมูลและเก็บบันทึกข้อมูลที่ทันสมัย และดำเนินการมากกว่า 20 ปี ทางศูนย์ฯให้บริการแบบผู้ป่วยนอกเป็นช่วงเวลาสำหรับทั้งผู้ป่วยใหม่ที่ต้องการมารับบริการเป็นครั้งแรกและผู้ป่วยเก่าของศูนย์ฯ ทุกวันจันทร์ ที่ชั้น 14 อาคาร สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
(กรุณาติดต่อทำนัดล่วงหน้าก่อนมาตรวจ เพื่อจะได้ไม่ต้องรอตรวจนานจนเกินไป) - คลินิกเคลื่อนที่แบบสหสาขาวิชาชีพ (พื้นที่ต่างจังหวัด)
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ยกทีมผู้เชี่ยวชาญสหสาขาประกอบด้วย ศัลยแพทย์ตกแต่ง ประสาทศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน จักษุแพทย์ แพทย์โสต ศอ นาสิก วิสัญญีแพทย์ นักแก้ไขการพูด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล ลงพื้นที่ตัวแทนแต่ละภูมิภาคเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยในเขตพื้นที่นั้น ๆ โดยร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข - การตรวจผ่านช่องทางออนไลน์ (ทั่วประเทศ)
ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจเบื้องต้นผ่านทางช่องทางออนไลน์ เนื่องจากความไม่สะดวกทางการเดินทาง หรือเพื่อให้ทันท่วงทีในการรักษา ทั้งการโทรด้วยระบบปกติ ระบบวีดีโอคอล การส่งรูปถ่ายและคลิปวีดีโอต่าง ๆ ผ่านทางโปรแกรมไลน์, เฟซบุ๊ก, อีเมล และโทรสาร
การวางแผนรักษาผู้ป่วย (craniofacial conference)
การประชุมวางแผนการรักษาในลักษณะนี้เป็นกิจกรรมที่มีเฉพาะในศูนย์ชั้นนำทั่วโลกเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของร่างกายมากกว่า 2 ระบบ ที่ศูนย์ของเรามีการทำกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529
เนื่องจากผู้ที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะมักมีความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า ทำให้ไม่มีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญคนใดสามารถให้รักษาดูแลรักษาได้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมวางแผนรักษาผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เสียสละเวลาจากงานประจำมาร่วมปรึกษาพูดคุยกันทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน
การผ่าตัดรักษาผู้ป่วย
- การผ่าตัด ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นศูนย์เฉพาะทางมีผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะทุกประเภท พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย
มีบริการผ่าตัดนอกเวลาราชการ
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะมารับการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ผู้ป่วยเกือบทุกรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัดมีระยะเวลานาน จึงมีความจำเป็นที่ต้องทำการผ่าตัดนอกเวลา เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัดของผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
เพิ่มเตียงผู้ป่วย ICU
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จ้างบุคลากรทาง ICU เพิ่มเพื่อมาดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดอย่างแน่นอน มีความปลอดภัยสูงสุดหลังการผ่าตัด และแก้ปัญหาการงดผ่าตัด เนื่องจากไม่มีเตียงใน ICU - เดินทางไปผ่าตัด ณ พื้นที่ต่างจังหวัด
ในทุก ๆ เดือน ศัลยแพทย์ตกแต่งและทีมผู้เชี่ยวชาญสหสาขาของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะเดินทางไปผ่าตัดผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านของผู้ป่วย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร
การดูแลรักษาทางด้านจิตใจ
- นักจิตวิทยา
ผู้ป่วยและครอบครัวที่อยู่ในความดูแลของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะได้รับคำแนะนำจากนักจิตวิทยา เช่น ความกังวลจากการมีบุคคลในครอบครัวมีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ การโดนล้อ ซึ่งการดูแลทางด้านจิตใจเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การรักษาทางด้านร่างกายแต่มักถูกมองข้าม - การประชุมกลุ่ม (craniofacial support group)
โดยความคิดริเริ่มของรศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ คุณปราณี ทรงเดชาไกรวุฒิ (นักสังคมสงเคราะห์) และคุณนันทนา ประชาฤทธิ์ภักดี (นักอรรถบำบัด) ได้จัดให้มีการประชุมกลุ่ม (support group) สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะขึ้นในปี พ.ศ. 2546 นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทยให้ดำเนินการภายใต้ “โครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง” - งานสนุกสุขสันต์วันพบปะ
เป็นอีกกิจกรรมในโครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง ในทุก ๆ ปีทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะจัดกิจกรรมที่มีทั้งบูทอาหาร เครื่องดื่ม การละเล่น การแสดงบนเวที หรือการพาผู้ป่วยและครอบครัวไปนอกสถานที่ เช่น สวนสนุก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กิจกรรมสนุกสุขสันต์วันพบปะนี้เปรียบเสมือนเป็นวันเด็กของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความสุขสนุกสนาน มีกำลังใจในการต่อสู้กับความผิดปกติของร่างกาย และสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหวัง
การดูแลรักษาทางด้านสังคม
- การช่วยเหลือค่ารักษาผ่าตัด
ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ดูแลค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยโดยอาศัยเงินบริจาคของประชาชน ทั้งค่าตรวจรักษาในแผนกอื่น ๆ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์การรักษา ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินสิทธิ์ ซึ่งผ่านการประเมินโดยนักสังคมสงเคราะห์ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายใด ๆ - โครงการผู้ป่วยอิ่มท้อง เราอิ่มใจ
เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารกลางวันแก่ผู้ป่วยและญาติ ลดความกังวลใจของผู้ป่วยและญาติที่เกรงว่าจะเลยคิวพบแพทย์หากต้องไปรับประทานอาหารกลางวันเอง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ป่วยและญาติได้มีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกัน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ - โครงการเกษตรเติมฝัน
ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ โดยการรับสมัครผู้ป่วยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มาฝึกทักษะอาชีพทางการเกษตร จุดประสงค์ของโครงการคือลดภาวะการพึ่งพิงส่งเสริมความสามารถและศักยภาพของผู้ป่วยในการช่วยเหลือตนเองและเป็นแบบอย่างให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ได้มีกำลังใจในการรักษาพยาบาลและต่อสู้กับความผิดปกติและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เนื่องจากผู้ป่วยมักถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมต้องการการพึ่งพิงและต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาทั้งที่จริงแล้วผู้ป่วยต้องการโอกาสในการพิสูจน์ความสามารถของตนเองและการยอมรับจากสังคมมากกว่าความเมตตาหรือสงสาร - โครงการหนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต
บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (Gulf) และมูลนิธิพลังงานไทย สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ป่วยของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา และครอบครัวมีฐานะยากจน เพื่อให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับสูงสุด สามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยได้ในที่สุด การคัดเลือกอาศัยคณะทำงานและครูประจำชั้นหรือตัวแทนจากโรงเรียนของผู้ถูกคัดเลือก
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ออกตรวจผู้ป่วยนอกในวันจันทร์เวลา 09.00 – 15.30 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
(กรุณาโทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้าก่อนมารับบริการ)
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
อาคาร สก. ชั้น 14
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 4330, 02 256 4914
โทรสารหน่วยงาน
02 256 5314
อีเมลหน่วยงาน
info@craniofacial.or.th
เฟซบุ๊กหน่วยงาน
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จุฬาลงกรณ์
Line@
@thaicraniofacial
เว็บไซต์หน่วยงาน