ไขมันทรานส์ พิษร้ายใกล้ตัว


ไขมันมันทรานส์ หรือเรียกอีกชื่อว่า transfat เป็นไขมันที่มีในธรรมชาติน้อยมากแต่เกิดจากการดัดแปลงโครงสร้างของน้ำมันพืชหรือไขมันไม่อิ่มตัวด้วยกระบวนการ hydrogenation หรือ การเติมหมู่ไฮโดรเจน ทำให้น้ำมันพืชมีลักษณะคงตัวที่อุณหภูมิห้อง ทนความร้อนได้สูง ไม่เหม็นหืน อาหารที่มีไขมันทรานส์สูงได้แก่ คุกกี้ แคร๊กเกอร์ ขนมขบเคี้ยว เค้ก โดนัท เฟรนซ์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น

ได้มีการนำไขมันทรานส์มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างแพร่หลายในช่วงประมาณ 50-60 ปีมานี้เนื่องจากมีราคาถูก มีกลิ่นหอมและทอดอาหารได้กรอบ แต่หลังจากนั้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก็มีรายงานจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าการบริโภคไขมันทรานส์ปริมาณมากทำให้ไขมันดีในเลือด (HDL cholesterol) ต่ำลง และไขมันเลวในเลือด (LDL cholesterol) สูงขึ้น  นอกจากนี้ยังพบว่าการบริโภคไขมันทรานส์สัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ไขมันทรานส์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการเกิดมะเร็งบางชนิดด้วย ต่อมาจึงมีการตระหนักเรื่องการบริโภคไขมันทรานส์มากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดไม่ให้บริโภคไขมันทรานส์เกิน 1% ของปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันหรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน ซึ่งอาหารบางชนิดต่อหนึ่งหน่วยบริโภคก็มีไขมันทรานส์เกินปริมาณนี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โดนัทบางยี่ห้อมีไขมันทรานส์ถึง 2.7 กรัมต่อหนึ่งชิ้น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหลายประเทศได้ตระหนักเรื่องพิษร้ายของไขมันทรานส์ บางประเทศในทวีปยุโรปได้ห้ามการใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบอาหาร ส่วนในสหรัฐอเมริกาได้ใช้เวลาถึง 3 ปีในการยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ในประเทศโดยในเดือน มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาได้ประกาศว่าเป็นประเทศที่ปลอดไขมันทรานส์แล้ว สำหรับในประเทศไทยหลังจากที่ได้เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเรื่องพิษร้ายของไขมันทรานส์และขอความร่วมมือภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารเพื่อลดการใช้ไขมันทรานส์มาก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายไขมันทรานส์โดยให้ใช้บังคับ 180 วันนับจากวันประกาศซึ่งหมายความว่าในปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปลอดไขมันทรานส์ในอาหารเช่นเดียวกับในอีกหลายๆประเทศ

จากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านอาหารทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารบางชนิดสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงสุขภาพของประชาชนชาวไทยแล้ว นโยบายปลอดไขมันทรานส์ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะโรคหลอดเลือดหัวและสมองอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆประเทศ