เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อตกอยู่ใน สถานการณ์ความรุนแรง


จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จังหวัดโคราช เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งประเทศตื่นตระหนกและเศร้าสลดกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น หลายหน่วยงานตื่นตัวกับการรับมือกรณีเกิดเหตุวิกฤตเช่นนี้ ในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง การหลบหนี และการเอาตัวรอดในเหตุการณ์กราดยิงในที่สาธารณะ หรือ Escape and Survive in Mass Shooting ณ ห้อง 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี ผศ.(พิเศษ)นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านภาพลักษณ์องค์กร เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และ ผศ.นพ.อดุมศักดิ์ หุ่นวิจิตร ฝ่ายนิตเวชศาสตร ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในการเสวนาครั้งนี้มีคณะแพทยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากหลายหน่วยงานมาร่วมเสวนา

ฝ่ายนิติเวชศาสตร์ให้ความรู้แก่บุคลากรและประชาชนผู้สนใจมากมาย จากการเสวนา ระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 เหตุการณ์ Mass Shooting หรือการกราดยิงในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเหตุการณ์ปล้นชิงทองกลางห้างสรรพสินค้าในจังหวัดลพบุรี และครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา โดยกรณีเหตุที่เข้าข่าย เป็นเหตุกราดยิง ประกอบด้วยเหตุการณ์จะเกิดในที่ชุมชนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 คน ไม่รวมผู้ก่อเหตุ ขณะที่ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมการเลือกเหยื่อโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้าและอาจมีเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากการคร่าชีวิตคน เช่น การปล้นทรัพย์การชิงทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ จากงานวิจัย พบว่า ผู้ก่อเหตุในกรณีเหตุกราดยิงจะพบจุดจบคือการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจนมุมเจ้าหน้าที่แล้วกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญในที่เกิดเหตุ

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาว่า หากประสบเหตุอยู่ท่ามกลางการกราดยิง สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งและโดยเร็วที่สุดคือการหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run – Hide – Fight) โดยการหลบหนีมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

การหลบหนี (RUN)

หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด รวมถึงสังเกตและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ
วางแผน และเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบ
มีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี ที่สำคัญควรสละสิ่งของหรือสัมภาระทั้งหมดเพื่อการหลบหนีที่คล่องตัว และหากเป็นไปได้ควรช่วยเหลือคนรอบตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

การหลบซ่อน (HIDE)

ในกรณีที่ไม่สามารถหลบหนีได้ รศ.นพ.รัฐพลี แนะนำให้หาที่หลบซ่อน เพื่อให้พ้นสายตาของผู้ก่อเหตุ โดยสิ่งที่ควรทำ มีดังนี้
ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือติดต่อที่ทำให้เกิดเสียง เช่นทีวี วิทยุ เปลี่ยนเสียงโทรศัพท์ให้เป็นระบบสั่น
หากมีหน้าต่างหรือประตู ให้ปิดม่าน และล็อคประตูให้แน่นหนา
พยายามหาวัตถุที่หนักและมั่นคง เช่น โต๊ะ ตู้ กั้นประตูไว้
การหลบซ่อนที่ดี ควรแอบอยู่หลังหรือใต้โต๊ะ ตู้ที่แข็งแรง
พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่างกระจก
หากหลบซ่อนอยู่หลายคน พยายามกระจายพื้นที่หลบซ่อนให้มากที่สุด และพยายามขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เสียง เช่น ขอความช่วยเหลือผ่านช่องทาง SMS หรือ LINE เป็นต้น

การต่อสู้ (FIGHT)

หากอยู่ที่สถานการณ์คับขัน ไม่สามารถหลบหนีหรือซ่อนตัวได้ วิธีการสุดท้ายในการเอาตัวรอดคือ การต่อสู้ด้วยสติ และกำลังทั้งหมดที่มี และสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ในสถานการณ์ซึ่งหน้านั้น ไม่ควรพูดเพื่ออ้อนวอน ขอร้องหรือเพื่อเกลี้ยกล่อมคนร้าย เพราะวิธีการเหล่านี้มักไม่ได้ผล และในทางกลับกันอาจยิ่งกระตุ้นคนร้ายให้ตื่นตัวมากขึ้น

การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ รศ.นพ.รัฐพลี กล่าวว่าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะควรพึงมีสติเสมอ หากมีเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน หรือเสียงระเบิด ขอให้สังเกตทิศทางและแหล่งที่มาของเสียง หากได้ยินเสียงประกาศเตือน หรือเกิดความสับสนของกลุ่มคน ขอให้พึงระวังตนเองและหาที่หลบหนี หรือหลบซ่อนโดยเร็วเปลี่ยนการสื่อสารให้เป็นแบบไม่ต้องใช้เสียง รวมถึงหาช่องทางในการแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งของมือปืนต้นเหตุ จำนวนผู้ก่อเหตุ  ลักษณะ และการแต่งตัวของผู้ก่อเหตุ จำนวนและประเภทอาวุธ และจำนวนผู้ที่ต้องสงสัยว่าบาดเจ็บ

การเตรียมพร้อมที่ทุกคนพึงมีคือ

ควรทราบเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นเช่น เบอร์ 191, 1669 หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น จส.100 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินในหลายๆ ช่องทาง
ควรรับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ หรือการอบรมการห้ามเลือดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
ก่อนออกจากบ้าน ควรชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้เต็ม มีแบตเตอรี่สำรองพร้อมสายชาร์จเสมอ
บอกที่มาที่ไปและเวลากลับให้คนที่บ้าน หรือเพื่อนสนิททราบเพื่อสามารถช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

ในประเด็นที่ควรทราบอีกประเด็นคือ การควบคุมสติให้สามารถรับมือกับความตึงเครียด ณ เวลานั้นให้ได้ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่าการจะรอดจากเหตุการณ์นี้ อย่างแรกต้องมีสติ พยายามหายใจเข้าเพื่อเรียกสติกลับมา นอกจากนี้ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่เรียกว่า Grounding หรือการสังเกตรอบตัว เช่น การมองไปรอบตัว การฟังเสียงและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบข้าง เมื่อสามารถปฏิบัติดังนี้ได้ สมองส่วนที่ใช้ในการคิดจะกลับมา และควรฝึกฝนสติให้อยู่กับตนเองสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ในงานเสวนายังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดการสูญเสียด้วย โดย ผศ.นพ.กฤตยา กฤตยากีรณ ศัลยแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า หากอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรง มีผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บหรือเสียเลือดทุกคนสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ โดยสิ่งแรกที่ต้องประเมินก่อนคือบริเวณที่ถูกทำให้ได้รับบาดเจ็บ เช่น

หากบาดเจ็บ ถูกยิงหรือทำร้ายที่ศีรษะ มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า 90%
หากบาดเจ็บ ถูกยิงหรือทำร้ายที่บริเวณแขน หรือขา จะมีความเสี่ยง 5-7% ซึ่งในกรณีถูกยิงบริเวณแขน หรือขา ทุกคนสามารถช่วยห้ามเลือดได้ ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตได้มากขึ้น

สำหรับวิธีการห้ามเลือดอย่างง่ายๆ มีข้อแนะนำดังนี้

หาจุดที่เลือดออกว่าอยู่บริเวณไหน และเลือดออกมากขนาดไหน
ทำการห้ามเลือด โดยใช้มือกดนิ่งๆ ตรงบริเวณที่เลือดออกไว้ตลอด ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดหดและสามารถห้ามเลือดได้
ในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บมีเลือดออกเป็นแผลใหญ่ ให้ใช้ผ้าสะอาดอัดไปตรงบริเวณแผลใหญ่นั้น และใช้มือกดลงไปที่ผ้าอีกที เพื่อห้ามเลือด

การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์กราดยิง หรือเหตุฉุกเฉินในที่สาธารณะไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป คณะบริหารและบุคลากรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมถึงคณะทำงานวารสาร ฬ ขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ที่จังหวัดโคราช และหวังว่าความรู้จากการจัดเสวนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในทุกกรณ์