โรคอุจจาระร่วง


โรคอุจจาระร่วงหรือโรคลำไส้อักเสบ พบได้บ่อยในคนทุกวัยโดยเฉพาะในเด็ก ในเด็กทารก มักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเนื่องจากการดูแลความสะอาดของขวดนมไม่ดีพอ ในเด็กเล็กอายุ 3-4 เดือนขึ้นไป มักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เนื่องจาก เด็กมักชอบดูดนิ้วหรืออมสิ่งของต่างๆ ในเด็กอายุ 5 ขวบปีแรก มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโรต้า ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักเกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนมากับ อาหารที่เรียกว่าอาหารเป็นพิษ ส่วนเชื้อแบคทีเรีย เช่น อหิวาห์ บิด ทัยฟอยด์ ทำให้เกิดอาการ ท้องเสียได้แต่ปัจจุบันพบน้อยมาก

อาการของโรค

ผู้ป่วยอุจจาระร่วงอาจมีไข้ มักมีอาการอาเจียนนำมาก่อนที่จะมีอาการท้องเสียตามมา และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ลักษณะของอุจจาระแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ และถ่ายเป็นมูกเลือด ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียรุนแรงจะเกิดภาวะขาดน้ำ หรือถึงขั้น ทำให้เกิดภาวะช็อก

การดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง

ผู้ป่วยอุจจาระร่วงสามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้านได้ โดยให้กินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เน้นอาหารจำพวกแป้ง มีโปรตีนเล็กน้อย หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเส้นใย ได้แก่ ผักและผลไม้ ลดปริมาณของอาหารในแต่ละมื้อ และเพิ่มจำนวนมื้ออาหาร ผู้ป่วยเด็กสามารถ ดื่มนมได้ตามปกติโดยไม่ควรเจือจางนม ส่วนเด็กที่ดื่มนมแม่สามารถให้นมแม่ต่อไปได้

น้ำเกลือแร่ มีความสำคัญในผู้ป่วยที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ให้ดื่มหรือจิบทีละน้อยแต่บ่อยๆ แนะนำให้ใช้ผงเกลือแร่ชนิดซองโดยผสมในน้ำดื่มในสัดส่วนตามที่ระบุไว้ที่ซอง พึงหลีกเลี่ยง การใช้ยาแก้ท้องเสียโดยไม่จำเป็น ส่วนยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ มีประโยชน์ในกรณีอุจจาระ มีมูกเลือดหรือเป็นอหิวาตกโรค ผู้ป่วยที่มีไข้ อาเจียน และปวดท้อง สามารถให้ยาตามอาการได้ ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ อุจจาระมีมูกเลือด ขาดน้ำอย่างมาก หอบเหนื่อย ซึมลง ไข้สูง หรืออาการท้องเสียไม่หายภายใน 4-5 วัน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้อง

การป้องกัน

โรคอุจจาระร่วงป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและน้ำดื่มสะอาด ส่วนใน เด็กป้องกันได้ด้วยการดื่มนมแม่ ต้มหรือนึ่งขวดนมและจุกนมก่อนใช้ทุกครั้ง วัคซีนป้องกัน โรคอุจจาระร่วงประกอบด้วยวัคซีนโรต้าซึ่งแนะนำในเด็กเล็ก ส่วนวัคซีนทัยฟอยด์ แนะนำสำหรับผู้ ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคทัยฟอยด์ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม  

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
แผนกอายุรศาสตร์คลินิกเฉพาะโรค อาคาร ภปร ชั้น 3
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย