เทคนิคใหม่พิชิตอาการกระดูกทับเส้นประสาท เจ็บน้อย หายเร็ว สูงวัยก็ผ่าตัดได้
ขึ้นชื่อว่า “โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” ผู้ป่วยหลายคนคงรู้สึกหมดหวังที่จะหายขาดและกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายในระยะเวลาสั้นๆ เพราะแม้จะมีการผ่าตัดที่ได้ผลดีอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการผ่าตัดย่อมทำให้ร่างกายผู้ป่วยบอบช้ำและเสียเลือดมาก อีกทั้งผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แต่ปัจจุบัน ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประสบความสำเร็จก้าวหน้าไปอีกขั้นซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกสันหลังสามารถประยุกต์ใช้ “สกรูเหล็กชนิดใหม่” ผสมผสานกับ “เทคนิคใหม่” ทำให้การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทกลายเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนหมอนรองกระดูก ด้วยเทคนิคใหม่นี้จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลงและหายเร็วขึ้น อีกทั้งผู้สูงวัยก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ด้วย
ผศ. (พิเศษ)นพ.นรา จารุวังสันติ แพทยผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง กล่าวว่าการผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่มีมานานแล้ว ซึ่งในผู้ป่วยบางราย แพทย์จะต้องใส่เหล็กเข้าไปดามร่วมด้วยทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องถ่างปากแผลให้กว้างพอสำหรับการนำเหล็กดามเข้าไปยังบริเวณที่เส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังกดทับไว้ รวมถึงต้องเลาะเนื้อเยื่อออกแนวด้านข้างซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บมาก และหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังหลายๆ ข้อกดทับเป็นบริเวณกว้าง แผลผ่าตัดก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการผ่าตัดจึงทำให้ร่างกายของผู้ป่วยบอบช้ำมาก เสียเลือดมาก และต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานจึงจะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ
ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยที่สุด และสามารถฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา จึงได้ศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งสามารถประยุกต์ผสมผสานเทคนิคการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแบบใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ โดยหลักการของเทคนิคใหม่นี้คือ การประยุกต์ใช้โลหะชนิดใหม่ที่เรียกว่า “Cortical Screw” สกรูเหล็กที่ในต่างประเทศได้นำมาใช้เพื่อการดามหรือยึดกระดูกสันหลังส่วนที่แข็ง เช่น ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและกระดูกบาง ฯลฯ ซึ่ง ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา ได้นำ Cortical Screw มาประยุกต์ใช้กับการรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นครั้งแรก ทดแทน Pedicular Screw ที่ศัลยแพทย์โรคกระดูกสันหลังใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน
Cortical Screw จะถูกใส่เข้าไปใน “ตำแหน่งใหม่” ใกล้กับโพรงเส้นประสาท โดยวางตัวชิดแนวกลางมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในการผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ปากแผลมีขนาดลดลงเหลือเพียง 4 เซนติเมตร จากเดิมที่แพทย์ต้องผ่าตัดเปิดปากแผลให้กว้างอย่างน้อย 8 เซนติเมตรสำหรับการผ่าตัดบริเวณกระดูกสันหลัง 1 ข้อ ขณะเดียวกันด้วยปากแผลขนาดเพียง 4 เซนติเมตร เพียงแผลเดียว แพทย์สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องและนำสกรูเหล็กเข้าไปดามได้ โดยมีการเลาะเนื้อเยื่อน้อยมากและเสียเลือดน้อยมาก ร่างกายผู้ป่วยจึงได้รับบาดเจ็บ บางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือแทบไม่เสียเลือดเลย บางรายสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังฟื้นขึ้น จากเดิมที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลมากและต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายอย่างน้อย 2 วัน จึงจะสามารถเริ่มลุกได้
ลักษณะพิเศษของ Cortical Screw คือ มีขนาดเล็กกว่า Pedicular Screw แต่กลับมีความแข็งแรงมากกว่าถึง 1.5 เท่า จึงสามารถช่วยตรึงหรือดามกระดูกสันหลังของผู้ป่วยไว้ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเหมือนกับการดามด้วย Pedicular Screw ขณะระหว่างการผ่าตัด ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา จะใช้วิธีเชื่อมกระดูกในตำแหน่งข้อฟาเซ็ต (Facet Joint) ที่อยู่ด้านหลังของกระดูกสันหลังใกล้กับจุดที่ต้องเลาะเส้นประสาท แล้วเติมสารทดแทนกระดูกที่เรียกว่าสาร Demineralized Bone Matrix (DBM) เพื่อให้กระดูกเชื่อมต่อกันเร็วขึ้น ซึ่งข้อดีของการใช้เทคนิคนี้ทดแทนการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคือ นอกจากจะช่วยลดการเสียเลือด ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและเส้นประสาทได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังย่นระยะเวลาในการผ่าตัดให้น้อยลงกว่าเดิมถึงเท่าตัว
ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา กล่าวอีกว่า ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทด้วยเทคนิคใหม่แล้วอย่างน้อย 15 ราย ซึ่งจากการติดตามผลหลังเข้ารับการผ่าตัดไปแล้ว 1 ปี พบว่า ในผู้ป่วยทุกรายกระดูกสันหลังเชื่อมต่อกันได้ดี สกรูเหล็ก Cortical Screw ยึดติดแน่นและโพรงประสาทบริเวณกระดูกสันหลังขยายได้เทียบเท่าปกติ
เทคนิคใหม่นี้สามารถทดแทนการผ่าตัดรักษาแบบเดิมได้เกือบทุกกรณี และด้วยคุณสมบัติเด่นที่ “เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ผลข้างเคียงน้อย” จึงทำให้ตอบโจทย์การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดได้ในผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ เช่น ผู้สูงวัย ยกเว้นกรณีผู้ป่วยที่มีกระดูกผิดรูปหรือกระดูกสันหลังเคลื่อนที่มากเกินกว่าปกติ 50% ขึ้นไป ซึ่ง ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา แนะนำว่ายังต้องใช้การผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบเดิม เนื่องจาก Cortical Screw มีแรงดึงไม่มากพอ
โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ของกระดูกสันหลัง ถือเป็นปัญหาที่คนยุคนี้ต้องเผชิญกันมากขึ้น โดยมีสาเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็น ความเสื่อมตามวัย พฤติกรรม หรือประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา กล่าวสรุปว่า ไม่ควรละเลยสัญญาณอาการต่างๆของโรค เช่น อาการปวดร้าว ชาบริเวณหลัง ฯลฯ หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
สอบถามรายละเอียดได้ที่ :
ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาคาร ภปร ชั้น 2
โทรศัพท์ (02) 256 5349, (02) 256 5351, (02) 256 5354
http://ortho2.md.chula.ac.th