ก้าวแห่งประวัติศาสตร์ของการรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดครั้งแรกของโลก


International Agency for Research on Cancer (IARC) เปิดเผยสถิติอุบัติการณ์โรคมะเร็งจากทั่วโลกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 พบว่า “โรคมะเร็งเต้านม” เป็นโรคที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยพบมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากจำนวนประมาณ 10 ล้านคนและในปี พ.ศ. 2562 พุ่งสูงขึ้นถึง 19.3 ล้านคน ซึ่งปี พ.ศ. 2563 เผยให้เห็นว่า จำนวน 1 ใน 10 ของประชากรสตรีทั่วโลกจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงอยู่

ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดเต้านม การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยการฉายรังสี การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนและการรักษาด้วยยาพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการรักษาตามมาตรฐานทั่วโลก หากแต่การรักษาด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยบางรายสามารถกลับไปเป็นซ้ำได้อีก ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คิดค้นวิธีการรักษาใหม่ที่ช่วยต่อลมหายใจให้แก่ผู้ป่วย นั่นคือการรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Cell Based Immunotherapy

รศ.นพ.กฤษณ์ จาฏามระ หัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชีนีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดหรือการใช้ Dendritic Cell เป็น 1 ในเซลล์พื้นฐานที่พบในร่างกายซึ่งสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (T-cell) ได้ดีที่สุดเพื่อไปกำจัดเซลล์มะเร็งต่อไปปัจจุบันได้นำมาเป็นแนวทางการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่รักษายากและลุกลามไปทั่วร่างกายแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้ารับการรักษาช้าหรือรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วเซลล์มะเร็งยังไม่หมดไป

“การรักษาโรคมะเร็งเปรียบเสมือนการทำสงครามกับร่างกาย”

รศ.นพ.กฤษณ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดโดยมีที่มาจากสมมติฐานที่ว่า “การกลายพันธุ์ของมะเร็งเต้านมสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้” แต่อย่างไรก็ตามจากการนำก้อนมะเร็งมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเซลล์มะเร็งรวมอยู่กับเซลล์อื่นๆ รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือระบบภูมิคุ้มกันด้วย แต่เซลล์เหล่านั้นกลับไม่มีปฏิกิริยาใดต่อเซลล์มะเร็งที่อยู่ใกล้เคียงตามที่ควรจะเป็น เพราะเซลล์มะเร็งทำให้เกิดความผิดปกติในการทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นการปรับระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมามีหน้าที่กำจัดมะเร็งได้จะเป็นการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดและเป็นผลระยะยา

ขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

รศ.นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า ศูนย์สิริกิติ์บรมราชีนีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความมั่นใจในความพร้อมทั้งเครื่องมือและทีมบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่ส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ นำมาสู่นวัตกรรมการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งเต้านมสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งรักษาสำเร็จในผู้ป่วยรายแรก คุณเพลินพิศ ที่ผ่านการรักษาตามมาตรฐานมากว่า 6 ปี ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีแรกที่รักษาได้ผลดีพอ แต่กลับตรวจพบการแพร่กระจายที่ตับในปีที่ 4 จึงทำการผ่าตัดตับออกไป ตามด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ในระหว่างรับเคมีบำบัด มะเร็งกลับลุกลามไปยังตับส่วนที่เหลือ ปอดและกระดูก หลังพบว่าการรักษาของตนเองไม่สามารถหายขาดได้ ผู้ป่วยจึงขอให้ยุติการรักษาเพื่อไปใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว รศ.นพ.กฤษณ์ จึงแนะนำวิธีการรักษาแบบใหม่ให้แก่ผู้ป่วยและเริ่มทำการรักษาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เริ่มทำการรักษาด้วยการนำชิ้นเนื้อมะเร็งจากตับไปตรวจหายีนเซลล์มะเร็งที่สร้างโปรตีนพิเศษขึ้นมาที่ผิวเซลล์
  2. ทำการคัดลอกโปรตีนพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วส่งไปสร้างขึ้นใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านมมีแผนจะสร้างเทคโนโลยีขึ้นเอง
  3. ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เจาะเลือดเพื่อดึงเอา Dendritic Cell ซึ่งเป็นตัวอ่อนออกมา
  4. นำ Dendritic Cell มาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการให้เจริญเติบโตคู่กับ Peptide (โปรตีนจำเพาะของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแต่ละคน) เพื่อให้ Dendritic Cell เรียนรู้และจดจำโปรตีนจำเพาะของเซลล์มะเร็งนั้นๆ ว่าเป็นศัตรู
  5. ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันนี้กลับเข้าไปในร่างกายผ่านต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ซึ่งเป็นต่อมขนาดเล็กแต่เต็มไปด้วย T-cell ตัวอ่อน จากนั้นเซลล์ภูมิคุ้มกันจะเติบโตเพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง

ผลการรักษา

ภูมิคุ้มกันบำบัด ครั้งที่ 1

ฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันกลับเข้าไปในร่างกายจำนวน 8 ล้านเซลล์ ภายใน 6 – 8 สัปดาห์ สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย และทำหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีนคล้ายกับโปรตีนต้นแบบที่จดจำไว้ ในช่วง 3 เดือนแรกของการรักษาไม่พบความผิดปกติของร่างกายจึงเข้าไปตรวจที่ตับพบว่าเซลล์มะเร็งหายไปกว่าครึ่ง

ภูมิคุ้มกันบำบัด ครั้งที่ 2

เมื่อทำการรักษาต่อเนื่องด้วยภูมิคุ้มกันบ􀄞ำบัดครั้งที่ 2 ผ่านไป 3 เดือนตรวจพบว่า เซลล์มะเร็งที่ตับหายไปกว่าร้อยละ 90

ภูมิคุ้มกันบำบัด ครั้งที่ 3

ครั้งสุดท้ายไม่พบเซลล์มะเร็งที่ตับและปอด นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่เซลล์มะเร็งเต้านมซึ่งลุกลามแล้วถูกกำจัดได้ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดชนิด Dendritic Cell

โอกาสกลับเป็นซ้ำและผลข้างเคียง

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดแตกต่างจากวิธีการรักษาด้วยเคมีบำบัด จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าหลังการรักษาที่ได้ผลดีขนาดนี้แล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่ เนื่องจากการให้เคมีบำบัดเซลล์มะเร็งจะถูกกำจัดทิ้งไป แต่เทคโนโลยีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดคือ การเข้าไปจัดการระบบภูมิคุ้มกันภายในจนร่างกายกลับมาเป็นปกติ และเมื่อระบบภูมิคุ้มกันตรวจพบเซลล์ที่มีโปรตีนที่ถูกจดจำไว้กลับมาก็จะถูกกำจัดทิ้งทันที ในขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาปรากฏผลข้างเคียงในการรับภูมิคุ้มกันบำบัดครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรม เบื่ออาหาร มีตุ่มน้ำใส ปวดตามข้อ ซึ่งเกิดในระดับเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และหลังจากฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันไป 6 เดือน อาการต่างๆ จะดีขึ้นเป็นลำดับ ผู้ป่วยไม่มีอาการเหนื่อย ไม่พบน้ำในปอด อาการปวดกระดูกหายไป ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดอีกและสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในที่สุด

ความสำเร็จในครั้งนี้ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชีนีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถาบันในต่างประเทศ ได้แก่ Professor Stuart Curbishley จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร และ Professor Jolanda De Vries จากประเทศเนเธอร์แลนด์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อีกทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีอุปการคุณ และสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ซึ่งหลังจากความสำเร็จครั้งแรกของโลกครั้งนี้ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านมมีแผนการพัฒนาให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดสามารถรักษามะเร็งชนิดอื่นได้ด้วย เพื่อส่งต่อความหวังและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งมั่นพัฒนายกระดับการรักษาอย่างไม่หยุดยั้ง

ผู้สนใจเข้ารับการรักษาติดต่อที่ โทร. (02) 256 4671